รมช.มหาดไทย ตอบกระทู้สด สภาฯ ต่อมาตรการป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะ พร้อมผลการดำเนิน กรมที่ดิน ออก” นสล.” หรือ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ย้ำ แนวทางให้ความช่วยเหลือ ปชช.เรื่องที่ดินทำกิน และ เร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ฯ สู่ เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมทางสังคม
วันที่ 26 ส.ค.63 เวลา 11.00 น. ที่ รัฐสภาเกียกกาย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะในภาพรวมทั้งประเทศและในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีนโยบายเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนอย่างไร
โดยนายนิพนธ์ ชี้แจงว่าในปี2563 ได้มอบให้กรมที่ดินดำเนินการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (นสล.) เพื่อแสดงขอบเขตของที่ดินสาธารณประโยชน์ให้ชัดเจน ปัจจุบันได้ ออก นสล. ไปแล้ว 127,495 แปลง เนื้อที่ 5,990,623 ไร่ คงเหลือที่ยังมิได้รังวัด 3,652 แปลง เนื้อที่ 2,045,252 ไร่ โดยจะเร่งรัดดำเนินการ ให้ครบทุกพื้นที่และในปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายดำเนินการอีกปีละ 700-800 แปลง โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างอำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องที่ และสำนักงานที่ดินท้องที่ในการดำเนินการ เพื่อตรวจสอบหาแนวทางที่ชัดเจน
ส่วนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ดินสาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ได้ออกหนังสือสำคัญที่หลวงไปแล้ว 740 แปลง มีเนื้อที่ 88,000 ไร่ โดยมีพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการ 134 แปลง โดยที่ผ่านมาจังหวัดสุราษฎฯ ได้กำหนดพื้นที่ไปแล้ว 3 พื้นที่ จำนวน 559 แปลง และในปี 2564 ได้เสนอโครงการแปลง ”ป่าเขาหน้าแดง” ได้รับการสนับสนุนจากกรมที่ดิน เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป ส่วนปัญหาการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิเพื่อให้ประชาชนได้ถือครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากการยื่นขอออกโฉนดตามหลักฐาน ส.ค.1 ตั้งปี 2553 เบื้องต้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 1,725 แปลง อยู่ระหว่างดำเนินการและตรวจสอบแนวเขตที่ถูกต้องจำนวน 1,533 แปลง
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะ กระทรวงมหาดไทย ได้ให้จังหวัดคัดเลือกที่ดินที่มีผู้บุกรุกและเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ จัดระเบียบการถือครอง ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยจะออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐในรูปแบบชุมชน เช่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ส่วนกรณีที่ไม่มีผู้บุกรุกให้อำเภอร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำป้ายชื่อขอบเขตให้ชัดเจนโดยให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษา รวมทั้งมีการส่งเสริมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน สระน้ำ การประกอบอาชีพ การตลาด อันเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมด้วย