เพราะว่ากรณีของ “รัฐธรรมนูญ” สัมพันธ์กับทุกพรรคการเมือง เพราะว่ากรณีของ “เรือดำน้ำ” ก็ยิ่งต้องสัมพันธ์กับทุกพรรคการเมือง
ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าฝ่ายค้าน
การแถลงไม่เห็นด้วยจาก นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. อาจฟังดูคมคาย แต่อย่าลืมว่า นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ที่โหวตเห็นชอบ ในคณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ สภาผู้แทนราษฎร มาจากไหน
ก็อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มิใช่หรือ?
ทำไมกรณีของ “เรือดำน้ำ” จึงโยงสายยาวไปถึงกรณีของ “รัฐธรรมนูญ”
เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็น “เงื่อนไข” ที่ พรรคประชาธิปัตย์ ชูขึ้นก่อนที่จะขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2562
และรัฐบาล ก็บรรจุเป็น “นโยบายเร่งด่วน” ต้องรีบ ดำเนินการ
คำถามก็คือ หากไม่มีข้อเรียกร้องมาจาก “เยาวชน-ประชาชนปลดแอก” และ ลุกลาม ด้วยการ “ชู3นิ้ว” ใน รร.ระดับชั้น มัธยม
กรณีของรัฐธรรมนูญจะได้ความสนใจจากรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่
คำถามนี้แหลมคมยิ่งในทางการเมือง
ไม่ว่ากรณี “เรือดำน้ำ” ไม่ว่ากรณี “รัฐธรรมนูญ” ต้องดูจากการกระทำ
จะประเมินผ่านคำพูดหรือโวหารอันสวยหรูไม่ได้ เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐก็เห็นด้วย เพราะว่าพรรคภูมิใจไทยก็เห็นด้วย เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นด้วย
แต่เห็นด้วยแบบ “เรือดำน้ำ” หรือไม่ ยังน่าสงสัย
กรณีของ “เรือดำน้ำ” หากมองเพียงแต่คำพูด ทุกพรรคการเมือง ล้วนตะขิดตะขวงใจ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคของโควิด-19 ซึ่ง ต้องรัดเข็มขัด ต้องกระเหม็ดกระแหม่
แต่แล้วกลับผ่านฉลุยโดยพรรคร่วมรัฐบาล
สังคมจำเป็นต้องติดตามกรณี “เรือดำน้ำ” และกรณี “รัฐธรรมนูญ”
เวลาพรรคพลังประชารัฐแถลงก็ฟัง เวลาพรรคภูมิใจไทยแถลงก็ฟัง เวลาพรรคประชาธิปัตย์แถลงก็ฟัง มีความจำเป็นต้องตามไปเรื่อยๆ
ติดตามว่าเวลาลงมือ “กระทำ” นั้นเป็นอย่างที่ “พูด” หรือไม่ ?
ตรงนี้ คือ “หัวใจสำคัญ” พิสูจน์ “ธาตุแท้” ค่าของคน