10 องค์กรจับมือ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคผลิตฮาลาล หลังเกิดปัญหา เนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัวระบาด ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของมุสลิมทั่วโลกต่อฮาลาลไทย วาง 3 มาตรการเข้มปราบปราม-ป้องปราม-สร้างความเข้าใจ
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 ภัตตาคาร สินธรสเต็กเฮาส์ (ศรีนครินทร์) ซอย3 ติดถนนวงแหวนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้าตัดใหม่ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเครือข่ายพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดการเสวนา “สรรค์สร้าง ความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ฮาลาล (Trust Halal Products)” สร้างมาตรฐาน รับรองฮาลาล หยุดการปนเปื้อน “กรณีการปลอมเนื้อหมูเป็นเนื้อวัว” มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงานฯ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อทราบว่า มีกรณีการปลอมแปลงเนื้อหมูเป็นเนื้อ โดยการนำเลือดวัวมาผสม เพื่อหลอกผู้บริโภค ก็ได้รีบแก้ปัญหาทันที เพราะถือเป็นเรื่องที่รุนแรงที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของมุสลิมในประเทศ และกระทบต่อฮาลาลไทยต่อมุสลิมทั่วโลก จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 องค์กร อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ คณะกรรมการกลางอิสลามฯ สถาบันมาตรฐานฮาลาลฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ สมาคมธุรกิจไทยมุสลิม เป็นต้น ดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
‘จากการตรวจของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ กว่า 42 ตัวอย่าง พบว่า มีการปลอมเนื้อหมูเป็นเนื้อวัวถึง 70% โดยการขายออนไลน์มีการปลอม 100% การแก้ปัญหาจึงเน้นใน 3 แนวทาง คือ การปราบปราม ซึ่งสอบสวนคดีพิเศษ จะตรวจสอบในส่วนของการขายออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค จะดำเนินการในการหาตัวผู้กระทำผิด ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ขอเตือนไปยังผู้กระทำความผิดให้ตระหนักว่า โทษมีความรุนแรงเกี่ยวข้องกับกฎหมายในหลายมาตรา’ นายอลงกรณ์ กล่าว
ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการปราบปรามเราก็จะป้องปรามผู้กระทำผิดให้หยุดพฤติกรรมเหล่านี้เสีย ฐึ่งเท่าที่ติดตามได้หยุดแล้ว และขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งสร้าวความเข้าใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นมั่นให้กลับคืนมา ซึ่้งสังคมตอนนี้ก็มีความเข้าใจพอสมควรแล้ว
‘ทั้งหมดถือว่า เชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็น โรงเชือด เขียงเนื้อ พ่อค้า ผู้บริโภค ซึ่งในส่วนของโรงเชือดหลังเกิดเหตุกรมปศุสัตว์ก็ได้เข้าไปตรวจสอบทันที’นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้านดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องด้วยเกิดเหตุการณ์การปลอมแปลงเนื้อสุกรมาตกแต่งและจำหน่ายเป็นเนื้อวัว หรือการระบาดของเนื้อวัวเทียมที่ใช้เนื้อสุกรหมักด้วยเลือดวัวระบาดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจัดจำหน่ายในตลาดสดชุมชนมุสลิมและช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการส่งตัวอย่างเข้ามาตรวจวิเคราะห์ (19 ก.พ.-22 ก.ค.63) จำนวนทั้งสิ้น 42 ตัวอย่าง ทั้งในรูปแบบที่เป็นเนื้อสดและผ่านการปรุงเป็นอาหาร
ทั้งนี้ สรุปผลการวิเคราะห์เป็นเนื้อวัวปลอมที่ทำจากเนื้อสุกรหมักด้วยเลือดวัวสูงถึงร้อยละ 70 และที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก คือ เนื้อวัวที่จัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเนื้อวัวปลอมถึง 100% ซึ่งเกิดผลกระทบและความวิตกกังวลต่อผู้บริโภคมุสลิมและผู้บริโภคอาหารฮาลาลเป็นอย่างมาก และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย ปัญหาดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการทำลายความเชื่อถือของผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลก ที่มีประชากรกว่า 2 พันล้านคน ตลอดจนสังคมในวงกว้างรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางหรือมาใช้บริการต่างๆ ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการวิตกกังวลต่อการปลอมแปลงเนื้อสุกร รวมทั้งการส่งออกอาหารไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมอีกด้วย
นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ขึ้น เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีของเครื่องหมายฮาลาล และเป็นการเฝ้าระวังอันตรายการปลอมแปลงเนื้อสุกรเป็นเนื้อวัว รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ที่ได้การรับรองฮาลาลให้แก่ผู้บริโภครับทราบสามารถเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักการฮาลาล เป็นแนวทางในการป้องกันและคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมและมิใช่มุสลิมอีกทางหนึ่งด้วย