รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ ติดตามการดำเนินการ ศปถ.ภาคเหนือ พบข้อมูลน่าวิตก ในรอบ7 เดือน มีตัวเลขผู้เสียชีวิต เฉียด หมื่นราย มิบนโยบาย ทุกภาคส่วน ร่วมมือ บูรณาการร่วมกัน ปิดจุดเสี่ยงภัยให้ครอบคลุม
วันที่ 7 ส.ค.63 เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมอบนโยบายและแนวทาง การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยในพื้นที่ ให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังนโยบาย
รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของประชาชนอย่างมาก จากตัวเลขอุบัติเหตุในช่วง 7 เดือน มียอดผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 ราย ตัวเลขนี้ไม่รวมยอดอุบัติเหตุจากผู้ที่ไม่ได้ทำประกันภัยบุคคลที่ 3 อีก 25% รวมแล้วประมาณ 10,000 ราย ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง จึงได้มอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปิดจุดเสี่ยงบนท้องถนนสายต่างๆ ทั้งจากถนนสายหลัก ที่อยู่ในการดูแลของ กรมทางหลวง และ ทางหลวงชนบท 100,000 กิโลเมตร
และที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) 600,000 กิโลเมตร ทั้งในส่วนกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล โดยขอให้ทุกภาคีเครือข่าย บูรณาการร่วมกันปิดจุดเสี่ยงทั้งระบบ จึงขอย้ำบทบาท ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) ขององค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ ในส่วนของถนนที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ที่เป็นเส้นทางสายหลัก ขอเร่งรัดปิดจุดเสี่ยง ป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่พร้อมของถนนที่ใช้ในการสัญจร
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน วิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุ ถอดบทเรียนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลป้องกันและปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชน เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
พร้อมขอความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนมุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักให้ครอบคลุมทั้งคน รถ ถนน และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด โดยกำชับให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และ ท้องถิ่น ในการบริหารจัดการแผนงาน แผนเงิน แผนคน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม