“พีระพันธ์”ยก! คำสอน องค์รพี “อย่ากินสินบาท คาดสินบน” เตือน ตร.-อัยการ

“พีระพันธุ์” โพสต์เดือด! “ข้องใจ ” ปมคดี ทายาทกระทิงแดง  ยกคำสอน “องค์รพี” พระบิดากฎหมายไทย ฉะยับ ก๊วน ทำลายกระบวนการยุติธรรม ทั้ง ตร.และ อัยการ “อย่ากินสินบาท คาดสินบน”

วันที่ 5 ส.ค.63 นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะอดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – Pirapan Salirathavibhaga ระบุว่า

“ยุติธรรมค้ำจุนชาติ” ความยุติธรรม กับ ความอนาถใจ

ตั้งใจจะเขียนเรื่องพยานบอกเล่าและพยานที่เป็นความเห็นที่รับฟังไม่ได้ตามกฎหมาย และเรื่องทางออกของการถกเถียงเรื่องความเร็ว แต่ฟังการแถลงของอัยการเมื่อวานนี้แล้วเหนื่อยใจ เพราะประเด็นเยอะขึ้นทุกวันจนลำดับเรื่องไม่ถูกแล้วครับ ไม่น่าเชื่อว่าคดีขับรถชนคนตายที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆเหมือนคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแทบทุกวันคดีนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อถือในระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพียงเพราะคดีนี้มีผู้กระทำผิดเป็นอภิมหาเศรษฐีไฮโซไม่ใช่ชาวบ้านร้านช่องเหมือนคดีอื่นๆ เท่านั้น มันคุ้มไหมครับกับสิ่งที่ทำๆ กันลงไป

ผมเคยพิจารณาพิพากษาคดีประเภทนี้มาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่เคยมีคดีใดเลยที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนและฟ้องคดีถูกสังคมตรวจสอบและโต้แย้งไม่เชื่อจนวุ่นวายเหมือนคดีนี้ บางครั้งแค่ฟังเสียงก็ไม่แน่ใจว่าฝ่ายไหนเป็นคนพูด ต้องหันไปดูภาพข่าวประกอบจึงทราบว่า อ้อ! ฝ่ายที่ต้องเป็นคนฟ้องคดีเป็นคนพูด ถ้ามองในแง่ดีไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ก็เห็นได้ว่ากระบวนการสอบสวนและการสั่งฟ้องคดีนี้ ล้มเหลว น่าสงสัย และสังคมไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว

นี่ขนาดคดีง่ายๆ ธรรมดาๆ ยังเป็นแบบนี้ แล้วคดีใหญ่ๆ ซับซ้อนมากๆ จะเชื่อถือได้อย่างไร หากไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ก็คงต้องแก้กฎหมายให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนฟ้องร้องคดีต้องเข้ารับการอบรมกฎหมายทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นอย่างน้อย เพราะคดีนี้ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งทำงานยิ่ง……. จริงๆ นะ ถ้าผมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขเรื่องนี้เมื่อไร ผมทำแน่นอน!!!

 

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม “วันรพี” ที่เป็นวันระลึกถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ผมจำคำสอนที่ท่านทิ้งไว้ให้บรรดานักกฎหมายไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่อะไรได้อย่างขึ้นใจ ว่า “เอ็งกินเหล้าเมายา ไม่ว่าหรอก แต่อย่าออกนอกทางให้เสียผล จงอย่ากินสินบาท คาดสินบน เรามันชนชั้นปัญญาตุลาการ”

หัวใจของคำสอนของพระองค์คือ ให้นักกฎหมายทั้งหลายตระหนักถึงเกียรติยศศักดิ์ศรี ยิ่งกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและสิ่งที่เรียกว่า “สินบน” ไม่รู้ว่าวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะมีคนใหญ่คนโตกี่คนในกระบวนการยุติธรรม ที่กล้าปฏิญาณว่ายังยึดมั่นในคำสอนของพระองค์ไม่เสื่อมคลาย ผมเชื่อในประโยคที่ว่า “หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก”

เรื่องนี้ควรจะต้องถกเถียงกันในเรื่องพฤติการณ์แห่งคดี และสิ่งที่กฎหมายเรียกว่า “พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลจะใช้พิจารณาการกระทำของผู้กระทำผิดมากกว่า ประเด็นเรื่องความเร็ว ว่าเข้าองค์ประกอบหลักของความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ มากกว่าทฤษฎีทางวิชาการเรื่องความเร็ว ที่ศาลถือว่าเป็นเพียง “ความเห็น” ซึ่งมีน้ำหนักในการพิสูจน์ความผิดในระดับท้ายๆ

แต่ดูแล้วเรื่องความเร็วนี้คงจะจบยาก ไม่รู้ว่าเป็นไปโดยธรรมชาติหรือมีคนไม่อยากให้จบ จะได้ไม่ต้องไปขุดคุ้ยเรื่องอื่นที่น่าสงสัยและควรจะตรวจสอบมากกว่า เช่น เหตุใด นายเนตร นาคสุข ในขณะสั่งฟ้องคดีเป็นเพียงอธิบดีอัยการธรรมดา จึงมาเกี่ยวข้องสั่งคดีนี้ได้ ทั้งๆ ที่เจ้าของสำนวนเดิมสั่งฟ้องไปแล้ว นายเนตรได้รับมอบอำนาจสั่งคดีมาจากใคร ตามกฎระเบียบใด มีอัยการท่านอื่นที่อาวุโส หรือ มีตำแหน่งสูงกว่านายเนตรที่ควรจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งคดีแทน อสส. หรือไม่

ทำไมเมื่อจะต้องสั่งคดีสำคัญๆ ขึ้นมาทีไรก็จะต้องมีเหตุให้ อสส. ไม่อยู่ทุกที และเมื่อ อสส. ไม่อยู่ทีไร เหตุใดคนสั่งคดีพวกนี้จึงต้องเป็น นายเนตรทุกครั้งทุกทีไป ไม่มีอัยการท่านอื่นที่มีอาวุโสหรือมีตำแหน่งสูงเหมาะสมกว่าหรือ คดีเล็กน้อยขับรถชนคนตายแค่นี้ ทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีจริงหรือ ฯลฯ เหล่านี้คือข้อสงสัยและเป็นปัญหาที่ต้องมีคำตอบ

ในเรื่องการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องหรือไม่เห็นแย้ง ก็มีข้อสงสัยว่าเหตุใด จนบัดนี้ที่สังคมจะทนไม่ไหวแล้วนั้น ทั้ง นายเนตร กับ พล.ต.ท. เพิ่มพูน ซึ่งเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจก็ยังไม่ออกมาชี้แจงอธิบายเหตุผล และเหตุใดผู้บังคับบัญชาจึงไม่สั่งการให้ออกมาชี้แจงเหตุผลด้วยตนเองเช่นกัน แต่กลับให้คนอื่นออกมาอธิบายในสิ่งที่คนทั้งสองนี้ทำลงไปเต็มไปหมด แล้วพยายามมาอธิบายให้สังคมเชื่อ

พอโดนถามหนักๆ ในเรื่องการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ตอบไม่ได้ ก็แก้ตัวว่าไม่อาจก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของท่านนั้นๆ ได้ ก็ถ้าเช่นนี้ทำไมไม่ให้เจ้าตัวออกมาชี้แจงแถลงไขเอง แทนที่จะตั้งคนอื่นมาเป็นทนายหน้าหอแก้ตัวให้ เหมือนกับไม่ต้องการให้เจ้าตัวต้องถูกซักถาม มันปกติหรือไม่ครับ

ไม่รู้จริงๆ หรือครับว่าการทำเช่นนี้ก็เข้าหลักการเป็นพยานบอกเล่าหรือเป็นเพียงความเห็นของผู้ชี้แจงที่ฟังไม่ได้ตามกฎหมาย

อนาถใจจริงๆ
แค่ปฏิรูปคงไม่พอแล้วครับ