“วิชา” ลั่น! พร้อม ไขปริศนา “คดีบอส” ชี้ ทำ “ยุติธรรม” สั่นคลอน

“วิชา มหาคุณ” พร้อมรับ บท “เปาบุ้นจิ้น” ตรวจสอบ คดี ทายาท “กระทิงแดง” ชี้ทำ กระบวนการยุติธรรมไทย”สั่นคลอน” โดยจะนำข้อเท็จจริง ตีแผ่สาธารณชนให้มากที่สุด เผย นายกฯให้เวลา 30 วัน ต้องมีความคืบหน้า

กรณี สำนักงานอัยการ และ สตช.ไม่สั่งฟ้อง นายวรยุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา บุตรชายคนเล็ก นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง กลายเป็นคดีสั่นสะเทือกระบวนการยุติธรรมของไทยทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีดังกล่าว โดยมี นายวิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นประธาน  และให้รายงานต่อนายกฯภายในเวลา 30วัน

ล่าสุดวันนี้ (29 ก.ค.63) นายวิชา มหาคุณ กล่าวว่า ขอสนับสนุน นายกฯ ในการค้นหาความจริงเรื่องนี้ โดยเฉพาะ ข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้ชัดเจน เพราะคดีนี้อยู่ในการรับรู้ ประชาชนมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง นับแต่เกิดเหตุในปี 2555

“มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์ และ บุคคลผู้เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงให้การบังคับใช้กฎหมาย และ การพัฒนากระบวนการยุติธรรม มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จำเป็นต้องดำเนินการให้ชัดเจน จะได้นำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปกฎหมายต่อไป” นายวิชา กล่าว

สำหรับคณะกรรมการชุดดักล่าว ประกอบด้วย นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ โดยมีกรรรมการ 9 คน คือ ปลัดกระทรวงยุติธรรม , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย , ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม , นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย , คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมหาชน หรือ วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏฺิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนข้อเสนแอนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่คำสั่งมีผลใช้บังคับ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจขยายเวลาอีกได้ ทั้งนี้ให้รายงานเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป