“อนุทิน” จัดงบฯ จองวัคซีน ป้องโควิด เล็งผุดโรงผลิต ส่ง”ปิยะสกล”ดูงาน

109

รมว.สาธารณสุข เล็งจัดงบฯ 600ล้าน จัดซื้อและศึกษาแนวทาง ตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ป้องกัน โควิด-19 “ศ.นพ.ปิยะสกล” เผย จะร่วมมือกับ กต.เดินทางไป ม.อ๊อกฟอร์ด ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาผลิตในไทย

วันที่ 24 ก.ค. 63 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้า ในการจัดหาวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมงบประมาณ ในการสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนแล้ว จำนวน 3.5 พันล้านบาท งบฯตรงนี้ รวมถึงการไปจองซื้อวัคซีนจากทั่วโลกด้วย โดยมีแผนการจะใช้เงิน 600 ล้านบาท จองวัคซีน จากทีมของ ม.อ็อกฟอร์ด จากนั้น จะหารือ จองวัคซีน กับ ทีมวิจัยในประเทศอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขการลงทุนที่คุ้มค่า และ ให้เกียรติกันและกัน เมื่อลงทุนไปแล้ว ประเทศไทย ต้องได้วัคซีนเป็นลำดับต้นๆ

ส่วนการพัฒนาวัคซีนของไทย ยังต้องเดินหน้า และเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทีมไทย มีความรู้ ความสามารถไม่แพ้ใครแน่นอน

ด้าน ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชฯ และ ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ระบุว่า ขณะนี้ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ มีการพัฒนา”วัคซีนโควิด-19″ โดยมีความก้าวหน้า และ มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในเร็วๆนี้ มีการทดลองในคนกว่า1พันราย มีการตอบสนองที่ดีมาก

ซึ่งม.อ๊อกฟอร์ด ระบุว่า หากพัฒนาวัคซีนสำเร็จจะให้คนทั้งโลกได้ใช้วัคซีนในราคาที่ไม่มีกำไร แต่ถ้าจะผลิตเองคงไม่เพียงพอ จึงจะพิจารณาโรงงานผลิตวัคซีนในแต่ละทวีปว่า มีแห่งไหนที่มีศักยภาพ ก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ โดยประเทศไทยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด สามารถรองรับการผลิตได้ หากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็จะเป็นการผลิตวัคซีนตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ดังนั้นจะขอให้รัฐบาลเป็นตัวแทนไปเจรจากับ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้คนไทยผลิตโดยมีงบฯ 600 ล้านบาท เพื่อการพัฒนา ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ไปตรวจสอบโรงงานผลิตแล้ว คาดว่าจะได้การรับรองมาตรฐาน GMP ได้ประมาณเดือนกันยายน

“จะร่วมกับกระทรวงต่างประเทศไปเป็นผู้เจรจา ทำความยืนยันเพื่อรับเทคโนโลยีมาผลิต อันนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะทำได้เร็ว หากเขาทำสำเร็จ แล้วเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เราจะสามารถผลิตได้ภายในเวลา6เดือน ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จะผลิตได้ถึง 200ล้านโดส ถือว่าเป็นปริมาณมาก สามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียนได้อีกด้วย” อดีตคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชฯกล่าว