รมช.มหาดไทย ระบุการเสียชีวิตบนท้องถนน ยังเป็นภัยคุกคามคนไทย เผยตัวเลข ครึ่งปี สูญเสียแล้วกว่า 8,500 ราย หนุน 5 มหาวิทยาลัย เสริมท้องถิ่น สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน
วันที่23 ก.ค.63 เวลา 09.30 น. ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)ครั้งที่ 2/2563 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม พิจารณาประเด็นความร่วมมือ การขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนของภายใต้ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พร้อมทั้งพิจารณาร่างแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564
นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การเสียชีวิตบนท้องถนน เกิดจากพฤติกรรรมต่างๆ เช่น การขับรถเร็ว การดื่มสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย ยังคงเป็นปัจจัยหลักของการเสียชีวิต โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 8,500 กว่าราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ
ต่อไปนี้ให้คณะกรรมการ ศปถ. ระดับจังหวัด อำเภอ มีมาตรการเพิ่มเติมโดยให้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ก่อน 7 วันอันตราย และเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้ยานพาหนะหลัง 7 วันอันตราย เพราะจากสถิติพฤติกรรมที่ผ่านมามีการใช้ยานพาหนะมากกว่าช่วง 7 วันอันตรายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้การสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนจะประสบความสำเร็จได้คือ องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เพราะ ถนน 70 เปอร์เซ็นอยู่ในความดูแลของ อปท. และการได้รับความร่วมมือจาก อปท.จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ในการดูแลบริหารจัดการเรื่องงบประมาณนำมาสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการประชาสัมพันธ์ การรณรงค์สร้างความเข้าใจ การจัดตั้งอาสาสมัครต่างๆ โดยเริ่มการรับรู้จากครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นในการร่วมมือดูแลความปลอดภัยทางท้องถนนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีคนข้างหลังห่วงใยท่านอยู่
ทั้งนี้ประชุมฯ ได้ร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน ลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” ซึ่งมีเป้าหมายใลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2573 ในทุกกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยทางถนนในทุกระดับ ทั้งระดับชาติระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น
โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ยานพาหนะ การใช้ถนน ยานพาหนะ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานซึ่ง ศปถ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย นำปฏิญญาสตอกโฮล์มและเป้าหมายระดับโลก เป็นกรอบแนวทางดำเนินการ ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับ บริบททางสังคม สภาพปัญหา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้