ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้อง “คดีโฮปเวลล์” หลัง กระทรวงคมนาคม และ รฟท ยื่นขอ “รื้อคดี” ทำให้ ไทยต้องควักเงินก้อนโตจ่ายค่าเสียหายให้ บ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กว่า 2.4 หมื่นล้าน ปิดคดีอื้อฉาวที่ยืดเยื้อกว่า 30ปี
วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตาม คำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรณีขอให้รื้อคดี ที่ อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องคืนค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ พร้อมดอกเบี้ยราว 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ
ผู้ร้องทั้งสองได้มีคำร้องยื่นต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
ประเด็นที่ผู้ร้องทั้งสองโต้แย้ง เกี่ยวกับระยะเวลาการใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ การเลิกกัน ของสัญญาพิพาท และการกลับคืนสู่ฐานะเดิมของผู้ร้องทั้งสอง และผู้คัดค้านมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการพิพากษาคดีและผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และที่ผู้ร้องทั้งสองโต้แย้งเรื่องความสามารถของผู้คัดค้านในขณะเข้าทำสัญญานั้น
เป็นประเด็นที่ผู้ร้องมิเคยโต้แย้งมาก่อนทั้งในศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณา จึงถือมิได้ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
และประการสุดท้าย การที่ผู้ร้องอ้างว่ามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน “กรณีโฮปเวลล์” ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2562 ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวผู้ร้องก็มิได้แสดงต่อศาลแต่อย่างใด กรณีดังกล่าว ทำให้รัฐบาลในยุค “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด
สำหรับ โครงการ ‘โฮปเวลล์’ หรือ โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และมี นายมนตรี พงษ์พานิช นั่งเก้าอี้เป็น รมว.คมนาคม โดยมีการเปิดประมูลก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งผู้ชนะการประมูลโครงการนี้คือ นักธุรกิจชื่อดัง ‘กอร์ดอน วู’ ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างฮ่องกง
ทั้งนี้ หากพิจารณาดูสัญญาโครงการ ที่ดูเหมือนจะหละหลวม จนทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียเปรียบฝ่ายเอกชน นั่นคือ การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้บอกเลิกสัญญาได้ แต่ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้