เป็นข่าวถึง 2 ครั้งติดๆ กัน สำหรับกระแสสังคมไทยที่ต่อต้านสิทธิ์ VIP ของนักการทูต ที่ไม่ต้องถูกกักกันตัว 14 โดยรัฐแต่เรื่องนี้เกี่ยวกับสิทธิ์ VIP ของนักการทูตที่ได้รับความคุ้มกัน โดยไม่ต้องถูกกักตัวจริงหรือไม่นั้น ลองมาดูสรุปกันครับ
1. นักการทูต ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มครองตาม ‘อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961’ หรือ Vienna Convention on Diplomatic Relations 1961
2. ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ UN และไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลกจึงต้องผูกพันตัวเองตามอนุสัญญาฯ นี้ด้วย โดยประเทศไทยก็ได้ออกกฎหมายรับรองว่าจะปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ คือ ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527’
3. ในข้อที่ 29 ของอนุสัญญาฯ ระบุไว้ว่า
“The person of a diplomatic agent shall be inviolable. He shall not be liable to any form of arrest or detention. The receiving State shall treat him with due respect and shall take all appropriate steps to prevent any attack on his person, freedom or dignity..”
แปลเป็นไทยว่า
“ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ ตัวแทนทางทูตจะไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปใด รัฐผู้รับจะปฏิบัติต่อตัวแทนทางทูตด้วยความเคารพตามสมควร และจะดำเนินการที่เหมาะสมทั้งมวลที่จะป้องกันการประทุษร้ายใด ๆ ต่อตัวบุคคล เสรีภาพ หรือเกียรติของตัวแทนทางทูต”
4. คำที่สำคัญคือ ‘Detention’ (การกักตัว) ซึ่งบางคนมองว่ารัฐบาลไม่สามารถกักตัวนักการทูตได้จากอนุสัญญาฯ ข้อนี้
แต่บางคนก็มีความเห็นว่า การกักตัวเพื่อป้องกันโรค หรือ ‘Quarantine’ ไม่เหมือนกับการกักตัว (detention) ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ
5. แม้กระนั้นก็ตาม ข้อที่ 41 ของอนุสัญญาฯ ก็ระบุไว้ว่า
“Without prejudice to their privileges and immunities, it is the duty of all persons enjoying such privileges and immunities to respect the laws and regulations of the receiving State.”
แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็หมายความว่า
“นักการทูตที่ได้รับความคุ้มกันตามอนุสัญญาฯ จะต้องเคารพในกฎหมายภายในของรัฐปลายทางด้วย”
6. จากเหตุผลของข้อที่ 29 และ 41 นี้เอง ทำให้เกิดการพบกันตรงกลางของมาตรการป้องกัน COVID ขึ้น ซึ่งก็คือ
– รัฐบาลไม่กล้าที่จะปฏิบัติกับนักการทูตเหมือนกับคนทั่วไป คือ กักตัวไว้ (Detain or Quarantine) เพราะอาจจะขัดกับข้อที่ 29 ของอนุสัญญาฯ (บางคนเรียกแบบนี้ว่า VIP แต่นักกฎหมายเรียกว่าข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ)
– ฝ่ายนักการทูตเอง ก็ต้องเคารพในกฎหมายของรัฐไทยเช่นเดียวกัน ตามข้อที่ 41 ของอนุสัญญาฯ จะอ้างเอกสิทธิ์ไม่ยอมกักตัว 14 วันเลยก็คงไม่ได้
7. ฉะนั้น เมื่อมีนักการทูตเข้ามาในประเทศ รัฐบาลไทยจึงใช้มาตรการที่เรียกว่า การกักตัวโดยมีองค์กรเป็นผู้รับผิดชอบ (Organisation Quarantine) ในขณะที่ถ้าเป็นคนไทย จะถูกกักตัวแบบรัฐบาลรับผิดชอบ (State Quarantine)
8. ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สถานทูตต่างประเทศในไทยบางแห่งนั้น ไม่มีสถานที่กักโรคเป็นการเฉพาะ จึงต้องอาศัยที่ทำการของสถานทูต ซึ่งบางทีก็เป็นคอนโดมิเนียมอย่างที่เราเห็น เลยไปปะปนกับผู้อื่นได้
ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องของ VIP แต่เป็นเรื่องของอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ ซึ่งวิธีแก้ปัญหา คือ รัฐบาลจะต้องกำหนดแนวทางให้ชัดว่า การกักตัวนักการทูต จะใช้ State Quarantine หรือ Organisation Quarantine
ถ้ารัฐเลือกแบบแรก ก็คาดว่าประชาชนทั่วไปน่าจะพอใจ แต่อาจจะมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้ภายหลัง ถ้าฝ่ายไทยดูแลเขาได้ไม่ดีพอ
แต่ถ้าเลือกแบบหลัง รัฐก็ควรจะคุยกับแต่ละสถานทูตไปเลยว่าขอให้จัดที่กักตัวให้แยกกับชุมชนสักหน่อย จะได้ไม่มีปัญหากัน
จากที่สรุปมา ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการมากกว่าครับ
Cr. Pum Chakartnit