ท่ามกลาง สถานการณ์ เฝ้าระบาด โควิด-19 ภายใต้ การประกาศ พรบ.ฉุกเฉิน ยังเต็มไปด้วยความเข้มข้น ปรากฏว่า จู่ๆ ประเด็นว่าด้วยการ “นิรโทษกรรม” ก็ ถูกจุดพลุขึ้นมา และที่น่าสนใจ มากกว่านั้น คือ “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะจาก พรรคเพื่อไทย เองมีท่าที ขานรับ คล้ายกับว่า ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีความขุ่นข้องหมองใจ กันมาก่อน !
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า “ยังไม่ได้คิด ยังไม่เห็นเรื่อง” ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะเป็นการ “ปิดประตูตาย” ดับความหวัง ของใครก็ตามที่กำลังพยายามผลักดันให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก 2 พี่น้อง ตระกูล “ชินวัตร” นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หัวขบวนคู่กรณีโดยตรงกับ รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่”
ที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ถูกจุดขึ้นมาโดย “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา ที่ออกมาเสนอให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองในอดีต เพื่อสร้างความปรองดองของคนในประเทศ เป็นการเสนอแนวทาง แนวคิดผ่านที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 ก.ค.63 ว่าบ้านเมืองของเราเวลานี้น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2563 เพราะความขัดแย้งทำให้สังคมแยกเป็น 2 ขั้ว
” ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะการทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมือง หรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การกระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม นายกรัฐมนตรีอย่าลังเล” คำนูณ ได้อภิปรายตอนหนึ่ง ในวันประชุมวุฒิสภา
สุทิน คลังแสง แกนนนำ พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) คือผู้ที่ออกมาขานรับ พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า สังคมจำเป็นต้องอภัยกัน และรัฐบาลควรเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้เพราะทุกคนมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากเข้าไปเป็นคู่กรณี หากรัฐาลเป็นคนเริ่ม และ องค์กรอื่นรับและสนับสนุน เรื่องนิรโทษกรรมก็จะไปได้ และฝ่ายค้านยินดีสนับสนุน ไม่ว่าเหลือง หรือ แดงก็ขอให้ลืมเรื่องที่ผ่านมาเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ส่วนจะสุดซอย หรือ กลางซอยก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาต้นเหตุของปัญหา ว่ามากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยมีการพูดและเสนอกันมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่อาจยังไม่ใช่ไทม์มิ่ง ที่เหมาะสม รวมทั้งสถานการณ์ยังไม่”สุกงอม” มากพอที่จะจุดพลุว่าด้วยการปรองดองขึ้นมา
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากที่ “พรรคฝ่ายค้าน” อ่อนแรง ลงไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งทุนรอน และกำลังที่กล้าแข็ง ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลแม้จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่ก็ดูเหมือนว่าพลังประชารัฐยังเป็นพรรคที่ดึงดูด “คนนอก” ให้เข้ามาร่วมสังกัดกันเป็นระยะๆ
เมื่อพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาล อยู่ในจุดที่แข็งแกร่ง การตัดสินใจว่าจะเปิดประตูไปสู่การปรองดอง ด้วยมีกฎหมายนิรโทษกรรมรองรับ จึงกลายเป็น แค่ “แสงสว่าง” ปลายอุโมงค์ ให้ ใครบางคน ได้มี ความหวังขึ้นมาบ้างเท่านั้น !!