จุฬาฯ แถลง “วัคซีนโควิด-19” ในลิงได้ผล รอ “อย.” ไฟเขียวทดสอบในคน

รพ.จุฬาฯ เผยความสำเร็จ ผลิต วัคซีน ป้องกัน โควิด-19 ขั้นที่สอง จากหนู สู่ลิง ปรากฏภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่สูงน่าพอใจ เตรียมส่งต่อโรงงานผลิตเนื้อวัคซีนและสารเคลือบ คาดพ.ย.นี้แล้วเสร็จ เดินหน้าต่อทดสอบในคน แต่ยังต้องรอความเห็นชอบจาก อย. คาดจะเปิดรับอาสาสมัคร 5,000 คนประมาณก.ย.นี้ กำหนดทดลองใน 3 เฟส

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.63 ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “CU-Cov19” โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองประชาชนเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทางด้านศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกร่วมกันเดินหน้าพัฒนา วิจัย ต่อยอด การคิดค้น ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่างๆ ให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแถลงความคืบหน้าพัฒนาวัคซีนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากต้องการให้เกิดความชัดเจนของทีมวิจัยให้มากที่สุด โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง ลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผนต่อไป

ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเป็นมาและรายละเอียดของแผนงานว่า การพัฒนาวัคซีนนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, จุฬาฯ และเงินบริจาคกองทุนวิจัยวัคซีน ซึ่งวัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด หลังจากฉีดวัคซีนทดลองในหนู 2 เข็มในระยะเวลา 1 เดือนพบภูมิคุ้มสูงขึ้น โดยพบว่า ครั้งแรก ระดับภูมิคุ้มกันของหนูอยู่ในระดับ 100 และเมื่อฉีดครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมาถึง 40,000 จึงได้ขยับทดลองในสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นคือลิง จำนวน 13 ตัวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ โดสสูง , โดสความเข้มข้นต่ำกว่า และกลุ่มที่ไม่ได้รับ โดยฉีดวัคซีนเข็มแรกในลิง วันที่ 23 พ.ค.63 และฉีดห่างกัน 1 เดือน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 พบว่า ลิงกลุ่มแรก ที่ได้รับวัคซีนโดสสูง ครั้งแรกที่ฉีดระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ไม่สูง จากนั้นเมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันขึ้นมาถึงระดับ 5,000 นอกจากนี้ ยังพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน

จากผลการทดสอบนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ จะส่งต่อให้กับโรงงาน2 โรงงาน เพื่อผลิตเนื้อวัคซีนและสารเคลือบ คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือนพ.ย. และพร้อมสำหรับการทดสอบในมนุษย์ (อาสาสมัคร) เฟส1และเฟส 2 ต่อไป โดยจะผลิตเตรียมไว้ประมาณ 10,000 โดส คือ ทดลองกับคนได้ประมาณ 5,000 คน ส่วนการวางแผนวิจัยในคนระยะที่ 1 ของจุฬาฯ เฟส 1 จะเริ่มใน อายุ 18-60 ปี ใช้โดสต่ำๆ ก่อน 5 กลุ่ม (เพิ่มกลุ่มตัวอย่างอีก 2 กลุ่มจาก 3) เพื่อศึกษาการลดโดส และเมื่อในกลุ่มแรกปลอดภัย จะเข้าสู่การทดลองที่ 2 ในกลุ่มอายุ 60-80 ปีต่อไป คาดเข้าสู่การทดลองกับคนในระยะที่ 3 ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ปี 2564 แต่อย่างไรก็ตาม การจะทดสอบในมนุษย์หรืออาสาสมัครได้นั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ว่าวัคซีนดังกล่าวปลอดภัย และคณะกรรมการจริยธรรมของคณะแพทย์ศาสตร์ก่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มรับสมัครอาสาสมัครได้เร็วที่สุดช่วงกลางเดือน-ปลายเดือนก.ย.นี้