ซูเปอร์โพล ตีแผ่ ผลสำรวจ ปชช. เกือบ100% ไม่เชื่อมั่นศรัทธาพรรคการเมืองไทย ชี้มีแต่ภาพ ทรยศ หักหลัง เสร็จนาฆ่าโคถึก พร้อม ชูธง เห็นด้วย ทีม4กุมาร ลาออก และ ทิ้งเก้าอี้ รมต. แนะ การปรับ ครม.จะต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และ มี ทีม เศรษฐกิจชัดเจน
วันที่ 11 ก.ค. 63 ผช.ศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สี่ยอดกุมาร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,586 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 9 – 10 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพรรคการเมืองในขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุ ลดลง ถึงไม่เชื่อมั่น หมดความศรัทธา เพราะเต็มไปด้วยคนมีประวัติด่างพร้อย แย่งตำแหน่ง แย่งอำนาจกัน มุ่งแต่จะถอนทุนคืน วิ่งเต้น วางบิลซื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรี ทรยศ หักหลัง เสร็จนาฆ่าโคทึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ไม่ปกป้องรักษาคนดี ไม่ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนของชาติ ไม่มีวินัย ไม่จริงใจ ไม่ได้รักประชาชน เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 11.1 เพิ่มขึ้นเพราะ ทำงานแก้ปัญหา มีอุดมการณ์ เข้าถึงประชาชน เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อการลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของสี่ยอดกุมาร ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.3 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 13.7 ไม่เห็นด้วย
โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.1 ระบุ ต้องการให้สี่ยอดกุมารทั้งหมดที่ลาออกนี้มุ่งทำงานแก้เดือดร้อน ลดความทุกข์ยากของประชาชนให้ถ้วนหน้า ร้อยละ 71.7 ลดความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 71.4 ต้องการให้สี่ยอดกุมารเป็นกลุ่มคนการเมืองใหม่ ทำงานกับ นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 70.0 ต้องการให้ช่วยลดแรงกดดันนายกรัฐมนตรีจากคนในพรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 66.3 ต้องการให้ละทิ้ง ตัดขาดจากการเมืองเก่าในพรรคพลังประชารัฐ
ผช.ศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ประชาชนกำลังหมดศรัทธาต่อพรรคการเมืองเพราะเห็นแต่ภาพการทรยศ หักหลัง เสร็จนาฆ่าโคทึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล แย่งชิงตำแหน่ง จ้องจะถอนทุนคืน ในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนทุกข์ยากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ตกงาน ขาดรายได้ แต่นักการเมืองมุ่งแต่จะหาประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงเสนอให้เอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้งและทำงานตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนที่ไม่ต้องการเห็นความวุ่นวาย ความขัดแย้งแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำลังยึดครองพื้นที่สื่อข้อมูลข่าวสารในเวลานี้
ดังนั้นถ้าปรับคณะรัฐมนตรี ควรแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลน่าจะตอบโจทย์แต่ละกลุ่มคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เน้นที่ “ความหวัง” หรือ Hope ให้พวกเขาเห็นอนาคตที่ดีมีงานทำ มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมืองเป็นพลเมืองดี สำนึกรู้คุณแผ่นดินและสถาบันหลักของชาติ กลุ่มที่สองเป็นคนวัยทำงานที่ต้องทำให้เกิดความมั่นคงในสัมมาชีพ มีงานทำรายได้ดี มีทักษะดี มีสุขอย่างพอเพียง และ กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มคนสูงวัยที่ต้องการความสุขและปลอดภัย โดยนายกรัฐมนตรีน่าจะมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคมที่เชื่อมประสานภาคประชาสังคม (Civil Society) ได้ดีกว่านี้ และนายกรัฐมนตรีต้องชูธงผู้นำด้านเศรษฐกิจและการเมืองด้วยตนเองไม่ลอยตัวเหนือปัญหา ให้เห็นภาพลงมานั่งกอดคอทำงานกันใกล้ชิดกับสี่ยอดกุมารทีมเศรษฐกิจบนโต๊ะรูปไข่เหมือนช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา อย่าไปทอดทิ้งพวกเขา เพราะครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีส่วนช่วยให้ทุกท่านเข้าสู่อำนาจเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก