ปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกฯ ขุดวีรกรรม PETA ปม “ลิงเก็บมะพร้าว” ขอสังคมไทยจับตาพฤติกรรม ยกคดี PETA ฟ้องร้องช่างภาพปี 2511 ก่อนศาลสหรัฐ ตัดสินให้ PETA เป็นฝ่ายแพ้คดี ข้องใจองค์นี้มีวัตถุประสงค์อะไร
วันที่ 8 ก.ค.63 นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pongpol Adireksarn ว่า เพื่อนๆ FB คงจะเคยเห็นภาพ selfie ของลิง Sulawesi Crested Black Macaque และข่าวการฟ้องร้องในปี 2511 ถึง 2518 ระหว่างช่างภาพสัตว์ป่าชาวอังกฤษ กับองค์กร PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่รู้จักของคนไทย เพราะเป็นผู้ร้องเรียนว่า คนไทยทารุณลิงโดยใช้ไปเก็บมะพร้าว และรณรงค์ไม่ให้ห้างร้านต่างๆ ในอังกฤษ วางกะทิทำจากมะพร้าวของไทยจำหน่ายในห้าง
รู้สึกว่าองค์กรนี้จะสนใจปกป้องสิทธิ์ของลิงเป็นพิเศษ ผมจึงกลับไปดูข่าวคดีเซลฟี่ของลิงชนิดนี้ ซึ่งช่างภาพชาวอังกฤษนำกล้องของเขาไปให้ลิงตัวนี้ได้ถือ ในเขตอนุรักษ์ทังโกโก (Tangkoko Nature Reserve) ทางตอนเหนือของเกาะสุลาเวสี ในอินโดนีเซีย ถ่ายเซลฟี่ตัวเองจนสำเร็จ และเกิดเป็นคดีความเพราะองค์กร PETA ต่อสู้ในศาลว่า ลิขสิทธิ์ภาพเซลฟี่นี้ต้องเป็นของลิงตัวนี้ โดย PETA จะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของลิงให้
ขณะที่ช่างภาพอังกฤษยืนยันว่าลิขสิทธิ์ต้องเป็นของเขาเพราะเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ถ่ายภาพและไปดำเนินการจนลิงเซลฟี่ตัวเอง ในที่สุดศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯตัดสินในปี 2018 ว่าลิงไม่ใช่มนุษย์ จึงไม่สามารถมีลิขสิทธิ์ได้ และให้ข้อสังเกตุว่า PETA มีวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหาประโยชน์ให้กับองค์กรมากกว่าที่จะปกป้องสิทธิของลิง ผมนำเรื่องนี้มาบอกเล่า เพื่อให้ช่วยกันติดตามดูพฤติกรรมของ PETA ซึ่งแสดงตนเป็นผู้ปกป้องสิทธิและสวัสดิภาพของเหล่าลิงวานรว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร ผมได้เคยเดินทางไปถ่ายภาพ Sulawesi Crested Black Macaque ที่ Tangkoko Nature Reserve มาแล้ว