“วิษณุ” นัด13 ปธ.ปฏิรูปประเทศ ถกนัดแรก 15 ก.ค. 63 วางกรอบ ทำงาน

นายกฯ มอบ “วิษณุ” นั่งหัวโต๊ะ ถกคณะกก.ปฏิรูปประเทศ ทั้ง 13 คณะ 15 ก.ค.นี้ วางกรอบ การทำงาน ยึดรูปแบบ New Normal “ดร.ปกรณ์” เผย รับภารกิจ ด้านการเมือง เพื่อให้ปชช.มีส่วนร่วมมากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ปรียากร อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และล่าสุดเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเปิดเผย ว่า วันที่ 15 ก.ค. นี้ จะมีการประชุมหารือร่วมกันของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวม 13 คณะ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้านกฎหมาย เป็นประธานในที่ประชุม

จะเป็นการวางกรอบ ขอบเขตการทำงานแค่ไหน ลงรายละเอียดในมิติไหนบ้าง จากนั้นแต่ละคณะก็แยกไปประชุมของตนเอง ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองนั้น แน่นอนว่า หลักใหญ่ใจความของการเมืองคือต้องยึดสิทธิ เสรีภาค ความเสมอภาค การกระจายอำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ส่วนพรรคการเมืองนั้น มีกฎหมายที่ตรวจสอบชัดเจนอยู่แล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดคือการยึดโยงกับประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมืองให้มากที่สุด และแน่นอนว่าการเมืองมีการเห็นต่างกันอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมาแสวงหาจุดร่วมกันเพื่อทำการเมืองแบบใหม่ ในรูปแบบ New Normal ตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี

 

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จำนวน 13 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งเพิ่มเติมจำนวน 11 คณะ ได้แก่
1.1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง รวม 13 คน โดยมี นายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธานกรรมการ
1.2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน รวม 15 คน โดยมี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เป็นประธานกรรมการ
1.3 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย รวม 14 คน โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ
1.4 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม รวม 15 คน โดยมี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธานกรรมการ

1.5 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ รวม 15 คน โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการ
1.6 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 15 คน โดยมี นายรอยล จิตรดอน เป็นประธานกรรมการ
1.7 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข รวม 15 คน โดยมี นายอุดม คชินทร เป็นประธานกรรมการ
1.8 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ รวม 15 คน โดยมี นายเสรี วงษ์มณฑา เป็นประธานกรรมการ

1.9 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม รวม 14 คน โดยมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ
1.10 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน รวม 15 คน โดยมี นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานกรรมการ
1.11 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวม 14 คน โดยมี นายภักดี โพธิศิริ เป็นประธานกรรมการ

2. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่ จำนวน 2 ด้าน ได้แก่
2.1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวม 11 คน โดยมี นายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานกรรมการ
2.2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวม 14 คน โดยมี นายนิธิ มหานนท์ เป็นประธานกรรมการ
รวมจำนวนคณะกรรมการ 185 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป