“จตุพร” หนุน “สมคิด” ชูโมเดล “ยุบสภา” ฉะ” ลุงตู่” กำลังทำ ชาติพัง

“จตุพร”เฟซบุ๊คไลฟ์ หนุน “สมคิด” ชูไอเดีย”ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ หลังจาก สส.ส่วนใหญ่ ตั้งป้อมค้าน ฟันธงวันนี้ นี้ ผลพวงจาก พิษโควิด ฉุดศก.ตกต่ำ และ ส่งผลให้การเมืองไทย เดินทางมาถึง จุดทำประเทศชาติพัง

เพจเฟซบุ๊ก Peace News โพสต์ข้อความ เมื่อ 2 ก.ค. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊คไลฟ์ PEACETALK กรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ ผู้นำทีม 4 กุมาร แสดงความเห็นให้ “ยุบสภา”เพื่อจะได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนายจตุพร กล่าวว่า หลังจากนายสมคิดและทีม 4 กุมาร ถูกการเมืองกดดันอย่างหนักให้พ้นจากรัฐมนตรี จนเสนอความคิดให้ยุบสภา โดยยกประเทศสิงคโปร์ ประกาศยุบสภามาเปรียบเทียบ

“ปกตินายสมคิด เป็นคนถนอมตัวมาตลอด การแสดงความคิดเห็นการเมืองจะไม่รุนแรงแบบพุ่งชน หรือให้เกิดการตอบโต้ถึงขั้นเป็นอันตรายกับตัวเอง นอกจากนี้ในทางการเมืองมีการเปรียบเปรยถึงขั้นว่า ให้ไปเก็บมะม่วงเต็มต้น เมื่อเห็นมดแดงก็ถอยแล้ว นั่นสะท้อนถึงไม่ต้องการความเสี่ยง หรือให้ตัวเองเจ็บตัว ดังนั้น ท่วงทำนองของนายสมคิด ถ้าเสี่ยงแล้วจะไม่ทำ”

แต่กรณีนี้ แสดงว่า นายสมคิด กำลังคิดอะไรอยู่ เพราะหลังจากนายสมคิดแสดงความเห็นเชิงเปรียบให้ยุบสภา ปรากฎว่า มี สส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบโต้เป็นพรรคแรก และไล่ให้พ้น ครม.กันเสีย ส่วนพรรคอื่น ประชาธิปัตย์ โดยนายเทพไท เสนพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะไม่พร้อม รวมความแล้วทุกพรรคการเมืองไม่ขานรับการยุบสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมาก “ผมว่าท่วงทำนองของนายสมคิด ที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ธรรมดา หากพิจารณาผลโพลแล้วในทุกสัปดาห์เป็นคุณกับกลุ่มนายสมคิดและ 4 กุมารมากกว่า ดังนั้น คงจะประเมินแบบดูแคลนเหมือนเดิมคงไม่ได้แล้ว”

นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนการคาดการณ์ ปรับ ครม. หลัง ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ผ่านสภานั้น ขณะนี้มีการประเมินจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม

ประกอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 หากไม่แตะอำนาจของ ส.ว.ก็ไม่รู้จะแก้ไปทำไม ที่สำคัญสถานการณ์ของประเทศจากนี้ไป ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจว่าจะลุกลามกันถึงขนาดไหน รวมทั้งถ้าลากไปถึงกลางเดือนหน้าแล้ว การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นมาได้หรือไม่

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกิดเชื่อนายสมคิดขึ้นมา แล้วตัดสินใจยุบสภาเพื่อหนีภาวะวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง แต่ผมก็ไม่เชื่อว่า จะมีการเลือกตั้งขึ้น ”

อีกอย่างที่สำคัญคือ งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด เป็นการกู้เงินมาโปะทำให้งบขาดดุล และก็ไม่รู้ว่ายังจะมีการกู้เพิ่มอีกเท่าไร เพราะการเก็บภาษีไม่มีทางได้ตรงเป้าหมาย ดังนั้น หนทางเดียวคือ การกู้เงินมาใช้นั่นเอง

“ปัญหาคือ การยุบสภาจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า ผมเชื่อว่า เราไม่มีทางเทียบเท่าสิงค์โปร์ได้เลย การเมืองของเขามีความต่อเนื่อง การยุบสภาของเขาใช้เป็นเทคติกทางการเมือง ส่วนประเทศไทยเสื่อมทรุดก่อนจึงยุบสภา รวมทั้งมีกลไกเป็นปัญหารอบด้าน ดังนั้น การยุบสภาแบบสิงค์โปร์จึงนำมาใช้กับไทยไม่ได้ และถ้ามีการยุบสภาจริง ก็อย่าคิดว่าจะมีการเลือกตั้ง”

นายจตุพร ย้ำว่า ทุกฝ่ายและทุกพรรคการเมืองไม่ขานรับการยุบสภาเลย จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สุด นั่นเท่ากับชี้ถึงประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก จึงรอกันได้ พร้อมกับประคับประคองบรรยากาศบ้านเมืองกันไป

ดังนั้น แม้ทุกฝ่ายพอคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่เรากำลังเดินไปสู่หายนะที่หลีกไม่พ้น เท่ากับถูกบังคับให้ต้องจบลงกันอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าจะแก้ไขปัญหาเพื่อหลบเลี่ยงกันได้หรือเปล่า

“ผมพยายามสร้างบรรยากาศการแสดงความเห็นให้มีความสร้างสรรค์ แต่เมื่อมองภาพรวมณวันนี้แล้ว เห็นว่าการเมืองเดินมาถึงจุดที่ว่า กำลังจะพังกันทั้งประเทศ เพราะทุกปัจจัยไม่เอื้ออำนวยกับสถานการณ์ จึงต้องคิดว่า ต่อจากนี้เราจะอยู่กันอย่างไร”