องค์กร ต้านบุหรี่ ตบเท้า ให้กำลังใจ “อนุทิน” ยินดี รับรางวัล จาก WHO

“ภาคประชาชน” ขอบคุณ “อนุทิน” หลังชูจุดยืนไม่สนับสนุนบุหรี่ทุกชนิด และ ยังได้รับรางวัล จาก “องค์การอนามัยโลก” ยกย่อง ต่อต้านการ สูบบุหรีโลก ขณะ “หมอประกิต” เห็นใจ รมว.สาธารณสุข ต้องรับศึกรอบด้าน 

วันที่ 1 ก.ค.63 ที่ กระทรวงสาธารณสุข สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ ภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบ เข้าพบ และ มอบช่อดอกไม้ ให้กำลังใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความขอบคุณการสนับสนุน นโยบายการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามแผนยุทธศาสตร์ การควบคุมยาสูบแห่งชาติ

โดย นายอนุทิน กล่าวตอบว่า ต้องขอบคุณกรมควบคุมโรค ที่ช่วยเหลือในเรื่องการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ที่ผ่านมา ได้รับแรงเสียดทานพอสมควร จากฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ที่มักจะมองว่าตนตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์ ทั้งที่ความเป็นจริง มีงานศึกษาจำนวนมากที่สรุปว่าบุหรี่ ไม่ว่าจะชนิดไหน ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องมาขอต่อรอง บุหรี่ทั่ว ก็มีโทษอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาบุหรี่ไฟฟ้า มาทำลายสุขภาพเพิ่มเติม ความกล้าที่เกิดขึ้น มาจากแรงผลักดันของทุกท่าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ขอให้รักษาจุดยืนและเป็นหลักของสังคมต่อไป

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ในฐานะประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ชื่นชมในหลักการและจุดยืนของ นายอนุทิน เพราะจากหลักฐาน บุหรี่ ไม่ว่าชนิดใด ล้วนแล้วแต่มีผลเสียต่อสุขภาพ ในระยะสั้นอาจจะไม่เห็นผลร้าย แต่ในระยะยาวทำลายสุขภาพแน่นอน นอกจากนี้ ยังต้องการแสดงความยินดีกับนายอนุทิน ซึ่งได้รับรางวัล World No Tobacco Day Awards 2020 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ในฐานะของภาคประชาชนที่รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ เมื่อทราบว่ารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีจุดยืนเช่นนี้ ก็น่ายินดี

ด้าน ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการ ไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เห็นใจนายอนุทิน ที่ต้องรับมือกับฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ และจากการศึกษาเบื้องหลังของการสนับสนุนบุหรี่ ก็คือ เครือข่ายส่งเสริมนิโคตินนานาชาติ ที่ได้รับทุนจากเอกชนผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ ที่ผ่านมา เวลามีข่าวเกี่ยวกับกลุ่มนี้ มักจะลงหน้าสื่อหลากหลาย ซึ่งมันไม่เป็นธรรมชาติ เท่าที่ทราบเอกชนรายใหญ่ ต้องการจะเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีข้อมูลมาส่งเสริมว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนสูบบุหรี่ปกติน้อยลง บุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพน้อยกว่า แต่ความเป็นจริงคือ มีงานวิจัยเพียง 1 ชิ้นเท่านั้น ที่บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดความต้องการบุหรี่ปกติ ยิ่งกว่านั้น งานวิจัยหลายชิ้น สรุปว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ได้สูบบุหรี่ปกติควบคู่กันไป และมีข้อมูลวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีผลร้ายต่อสุขภาพน้อยกว่า