เอาคืน! ศาลรธน. ไม่มี พรบ.รองรับ ปลุกผี! “ธนากร-ฟื้นคดียุบพรรค”

ฝ่ายค้าน ซุ่ม!  รอจังหวะคิดบัญชี ศาลรัฐธรรมนูญ พลิกตำรา ชี้ไม่มีกฎหมายจัดตั้ง เหมือนศาลอื่นๆ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจ ตัดสิทธิ “ธนาธร” พ้น ส.ส. รวมทั้ง ยุบพรรคการเมือง “อนาคตใหม่-ไทยรักษาชาติ”

24 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคฝ่ายค้านที่รับผิดชอบด้านกฎหมายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นการภายใน เกี่ยวกับการดำรงสถานะของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งเป็นการเฉพาะ จะส่งผลถึงการใช้อำนาจในการวินิจฉัยหรือมีคำสั่งต่างๆหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ (รธน.) บัญญัติไว้ชัดแจ้งมาตั้งแต่ฉบับ 2540 ในหมวดศาลมาตรา 234 ที่ว่า “บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ” หมายถึงศาลที่เกิดขึ้นใหม่ตาม รธน. ได้แก่ ศาลปกครอง และศาล รธน.จะต้องตราพระราช บัญญัติโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

ปรากฏว่า ต่อมารัฐสภาได้ตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ส่วน ศาลรัฐธรรมนูญในช่วง 9 ปีที่ใช้ รธน. 2540 ไม่มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลรธน. และวิธีพิจารณาคดีของศาลรธน. ส่วนศาลยุติธรรม และศาลทหารซึ่งเป็นศาลเก่าแก่ก็มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมาช้านาน เมื่อ รธน.2540 ถูกยกเลิก ได้ประกาศใช้ รธน.2550 และปัจจุบันใช้ รธน.2560 รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ก็บัญญัติข้อความเดียวกับ รธน.2540 คือ “บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ” แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในยุค คสช.จะตรา พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รธน. พ.ศ.2561 แต่ก็มิใช่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลรธน.

เป็นที่น่าสังเกตว่าศาลต่างๆล้วนมี พ.ร.บ.จัดตั้งทั้งสิ้น เช่น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ.2558 , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2542 ฯลฯ แต่เป็นเรื่องน่ากังขาว่าในเมื่อศาล รธน.ไม่มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งเหมือนศาลอื่นๆ จะทำให้มีสถานะเป็นศาลที่ชอบด้วย รธน.หรือไม่ หากเป็นศาลที่ไม่ชอบด้วย รธน. การออกคำวินิจฉัยและคำสั่งต่างๆที่ผ่านมา จะมีผลบังคับหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีคำวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ พ้นสภาพการเป็น ส.ส. , การยุบพรรคอนาคตใหม่ , การยุบพรรคไทยรักษาชาติ , การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 16 คนเป็นเวลา 10 ปีก็จะเกิดปัญหาตามมาและอาจเป็นโมฆะก็ได้

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา มี กมธ.ฝ่ายค้านได้ซักถามสถานะของศาลรธน. กับตัวแทนสำนักงานศาลรธน.ก่อนจะพิจารณาอนุมัติเงินงบประมาณ กรณีไม่มี พ.ร.บ.จัดตั้ง แม้คำตอบจะไม่กระจ่างและไม่เป็นที่พอใจของกมธ. แต่ก็ยอมให้ผ่านงบประมาณของสำนักงานศาลรธน. อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ในส่วนของศาลรธน. กมธ.ฝ่ายค้านจะไม่ยอมให้ผ่านหากตอบไม่ได้ว่า สถานะศาลรธน.ชอบด้วย รธน.หรือไม่

“การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การเกิดขึ้นของศาลจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติก็เพราะศาลเป็นกล ไกสำคัญในการพิจารณาอรรถคดี คำตัดสิน หรือ คำวินิจฉัย คำสั่งกระทบต่อชีวิต สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งความยุติธรรม ดังนั้น สถานะ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของศาล จะต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติกำหนดซึ่งตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เปรียบเสมือนคนเราเกิดมาจากท้องแม่ แม่คือผู้ให้กำเนิด ศาลต่างๆก็เช่นกันกฎหมายจัดตั้งศาลที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติก็คือแม่ ปัญหาที่ต้องหาคำตอบคือ กฎหมายที่เป็นแม่ที่ให้กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญมีหรือยัง ถ้ามีอยู่ที่ไหน”แหล่งข่าวระบุ