ผู้แทนจุฬาราชมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะ “สมเด็จพระสังฆราช”

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์)ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี มีนายประเสริฐ ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี อ.อาลี เสือสมิง เข้าเยี่ยมคารวะและแสดงความยินดี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) ในโอกาสที่ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่ตำหนักวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยๆด้ขอพระจากพระผู้เป็นเจ้าให้สมเด็จพระสังฆราชด้วย

พระสังฆราชองค์ที่ 20 ทรงดำรัสกับผู้แทนจุฬาราชมนตรี ‘เราเป็นครอบครัวเดียวกัน’

พระสังฆราช ทรงมีพระดำรัสว่า
“เราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็ต้องปรึกษาหารือกัน ที่ผ่านมาอาจมีผู้ไม่หวังดี ทำให้เราเข้าใจแตกต่างกัน พระองค์จึงทรงย้ำว่าหากเรายังยึดตามหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ก็จะไม่เกิดความแตกแยก ทั้งนี้ ตามหลักศาสนาอิสลาม มนุษย์ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ประเทศไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้น จึงต้องมีความสามัคคีเป็นครอบครัวเดียวกัน”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนกชื่อนับ ประสัตถพงศ์ พระชนนีชื่อตาล ประสัตถพงศ์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน มีพระอนุชาหนึ่งในนั้นคือ พระเทพสุเมธี (ไสว วฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม จังหวัดราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป. 4 ในปี พ.ศ. 2480

การบรรพชาอุปสมบท
เมื่อ พ.ศ. 2483 พระองค์บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์[3] แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม
ขณะจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2488

เมื่อ พ.ศ. 2490 ทรงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก ภายหลังอุปสมบท ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

หลังเป็นเปรียญ 5 ประโยค พระองค์ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงประกอบพระราชพิธีสมณุตตมาภิเษกสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม