ต้นตระกูล” หลีกภัย” จากจีน โพ้นทะเล สู่ เปอรานากัน แดนใต้ เมืองสยาม

เปิดภาพอดีต บรรพบุรุษ ต้นตระกูล หลีกภัย “แม่ถ้วน-พ่อนิยม” ผู้ให้กำเนิด “ชวน หลีกภัย” เป็นชาวจีน “บ่าบ๋า” อพยพมาจาก จีนแผ่นดินใหญ่ โดย “แม่ถ้วน” มาจาก จ.เจี่ยงจิว ขณะ “พ่อนิยม” มาจาก จ.จ่วนจิว

คุณชวน หลีกภัย เป็นลูกหลาน “บ่าบ๋าเกี๊ย”(峇峇子)

ภาพถ่ายวันแต่งงานของ เอี๋ยว กิม ถ้วน (น.ส.ถ้วน จูห้อง)* กับ หลื่อ ตัน ฮวด (นายนิยม หลีกภัย) ทั้งสองท่านคือ บิดา-มารดา นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และประธานสภาผู้แทนราษฏร 2 สมัย ชาวจังหวัดตรัง

บรรพบุรุษของ น.ส.ถ้วนอพยพมาจาก อำเภอเป่งโห จังหวัดเจี่ยงจิว ขณะที่ บรรพบุรุษของครูนิยม หลีกภัย อพยพมาจาก อำเภอหล่ำอัว จังหวัดจ่วนจิว

ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2477 ซึ่งเป็นปีทั้งสองท่านได้แต่งงานกัน สมัยนั้นเจ้าบ่าวนิยมแต่งกายด้วยสูทสากล เจ้าสาวจะใส่ชุดบายูปันจาง กลัดเข็มกลัดสามชิ้นที่เรียกว่า กอรอสังแม่-ลูก (Kerosang Ibu – Anak) เกล้าผมมวยชักอีโบย การแต่งกายแบบนี้ทำเหมือนกันหมดตั้งแต่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ปีนัง มะละกา และ สิงคโปร์ เราเรียกการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบนี้ว่า เปอรานากัน หรือ เรียกให้เจาะลงไปว่าเป็นวัฒนธรรมบ่าบ๋า-ญอหญา( Baba Nyonya Culture)

บรรพบุรุษของ ท่านประธานรัฐสภา เป็นจีนอพยพ จากโพ้นทะเล ที่แต่งงานกับคนพื้นเมือง ซึ่งเป็นคนไทยมาหลายรุ่น มีการแสดงออกทางวัฒนธรรมบ่าบ๋า หรือ วัฒนธรรมจีนช่องแคบ ( Straits Chinese Culture ) ผ่านการแต่งกายอย่างที่เห็น ในจังหวัดตรัง การใช้ภาษาหนักไปในทางภาษาไทย เพราะตรังเป็นเมืองในดินแดนสยาม มีการติดต่อใกล้ชิดกับกรุงเทพ และ หัวเมืองปักษ์ใต้อื่นๆ ทำให้จีนช่องแคบในเมืองตรังมีความเป็นไทยเข้มกว่าความเป็นจีน

อย่างไรก็ดี ภาพแต่งงานของบ่าวสาวคู่นี้ ยืนยันว่า เจ้าสาวเป็น “บ่าบ๋าเกี๊ย” (峇峇子 =ลูกบ่าบ๋า) จึงอนุมานได้ว่า ท่านประธานรัฐสภา – นายชวน หลีกภัย ก็เป็น “ลูกหลานบ่าบ๋า” ด้วยเหตุผลดังกล่า

ขอขอบคุณภาพ และ ข้อมูลจาก ชมรมกองฮกเซีย ตรังหมายเหตุ : มักมีคำถามว่า ทำไมจึงมีเด็กหญิงยืนอยู่ตรงกลางระหว่างบ่าวสาว ขอเรียนว่า ในการแต่งงานของจีนช่องแคบ มักมีเพื่อนเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าบ่าวอย่างละ 2 คน เพื่อนเจ้าบ่าวเป็นชายหนุ่มที่เป็นเพื่อนของเจ้าบ่าวจริงๆ แต่เพื่อนเจ้าสาวมักใช้เด็กหญิงอายุ 6-10ขวบ เหตุที่ไม่ใช้หญิงสาว เพราะไม่ต้องการให้สาวรุ่นที่ยังอ่อนต่อโลกพบกับชายหนุ่ม เกรงว่าจะเกิดการเกี้ยวพาราสีกันขึ้น อาจทำให้หญิงสาวถูกล่อลวง ดังนั้นแต่งงานของจีนช่องแคบจึงใช้เด็กหญิงเป็นเพื่อนเจ้าสาว