“สมศักดิ์”สั่งราชทัณฑ์ ผุดโครงการ “นิคมอุตสาหกรรม” ช่วยผู้ต้องขัง มีที่ยืนในสังคม

รมว.ยุติธรรม ประชุมเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ดึงอดีตบิ๊ก ขรก. อธิบดีกรมต่างๆ ร่วมคิด ตั้งเป้าสร้างอาชีพเฉพาะด้าน ให้ผู้ต้องขังมีที่ยืนในสังคม เล็งผุดโมเดล ภาคตะวันออก เป็นโครงการนำร่อง หลังพบวิกฤติขาดแรงงาน

วันที่ 15 มิ.ย.63 ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทาง ออกแบบโครงสร้าง และการบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือ เกษตรกรรมเพื่อแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมีอดีตราชการระดับสูง ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ น.ส. สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมาจากแนวคิดการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ที่มีจำนวนมากกว่า 380,000 ราย ซึ่งได้แก้ไขไปแล้วบางส่วน โดยสร้างเรือนนอนสองชั้นเพื่อลดความแออัด รวมถึงการใช้กำไลอีเอ็ม ที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อ หากแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยได้อีกทาง แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ เมื่อผู้ต้องขังออกจากเรือนจำแล้วไม่สามารถหางานทำได้ก็จะกลับไปกระทำผิดซ้ำ  และพบว่าผู้ต้องขังออกไป 3 ปี จะกลับเข้ามาเรือนจำประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ จนได้ไปตรวจงานที่ จ.นราธิวาส พบโครงการนำร่องชุมชนกาลาตาแป จึงหาทางต่อยอดเพื่อให้ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพเฉพาะด้าน ทั้งเรื่องเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เมื่อออกจากเรือนจำจะได้มีความสามารถเฉพาะด้าน ทำให้ผู้ต้องขังเหล่านี้มีงานทำ และมีที่ยืนในสังคม เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ทั้งนี้เห็นควรตั้งคณะอนุกรรมการศึกษารูปแบบนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ คาดใช้เวลา 3-6 เดือน และมอบให้สถาบันอุดมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อหาข้อบกพร่อง โดยมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ต้องขังต้องเป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม กำหนดพ้นโทษไม่เกิน 2 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่า 6.7 หมื่นราย ช่วงเริ่มโครงการคัดเลือกเข้าร่วม 3,000 คน ส่วนพื้นที่ในการก่อสร้าง งบประมาณ หรือ การพูดคุยกับภาคธุรกิจ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

“ทำไมเราต้องปลูกผักปลูกหญ้า ทำไมต้องมาเลี้ยง หมู ไก่ ปลา เพราะตอนนี้กรมราชทัณฑ์ซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้ผู้ต้องขังทาน ใช้งบต่อปี คือ 4,000-5,000 ล้านบาท หากเราปลูกเอง ก็อาจช่วยลดงบประมาณตรงส่วนนี้ได้บ้าง แต่จากนี้ยังคงต้องดูว่าเรือนจำใดอยู่ใกล้แหล่งน้ำบ้าง เพื่อจะได้วางแผนในการปลูกว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีผลผลิตที่สม่ำเสมอ เราจะเริ่มต้นโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ที่ภาคตะวันออกเพราะตรงจุดนั้นเป็นจุดที่ขาดแรงงาน ขอยืนยันให้ญาติพี่น้อง ของผู้ต้องขังทราบว่าเราตั้งใจที่จะทำให้ผู้ต้องขังมีอาชีพที่ยั่งยืน มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อพ้นโทษออกจากเรือนจำและไม่กลับเข้าสู่เรือนจำแบบวนเวียนอีก”

รมว.ยุติธรรม กล่าว ด้วยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ แต่งตั้ง ดร.โฆสิต สุวินิจจิต เป็นประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้โครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยมีตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นคณะอนุกรรมการ ส่วนคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการ มี นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นางอัญชลี ชวณิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร