ชะตากรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สัมพันธ์ กับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างแยกกันไม่ออก คำขวัญที่ว่า “ประเทศไทยต้องชนะ” จึงทรงความหมาย
เพราะในคำว่า “ชนะ” ในทางเป็นจริง มิได้หมายความว่าจะสามารถตีฝ่ามรสุม อันเนื่องมาจาก ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่ง ถือเป็น พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อรองรับ การเป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ หัวหน้า คสช.
ขณะเดียวกัน ปัญหาที่รัฐบาลและโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาในเรื่อง 1 ประสิทธิภาพของการบริหาร หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมาก 1 คือ ปัญหาในเรื่องของความเชื่อมั่น เป็นความเชื่อมั่นต่อความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความต้องการยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสกัดกั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิให้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีดำรงอยู่และแสดงออกอย่างเด่นชัดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562
ผลการเลือกตั้งแสดงออกอย่างเด่นชัดว่าเป็นการปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นได้จากคะแนนเสียงที่ปรากฏผ่านพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย
แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะ “อภินิหาร” ทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 250 ส.ว. การพลิกแพลงผ่านกฎหมายการเลือกตั้งทำให้จำนวนของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านลดลง ขณะเดียวกัน ก็นำส่วนนี้ไปดึงตัว ส.ส.ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเข้ามา 2 ปัจจัยนี้มีส่วนอย่างสำคัญทำให้พรรคการเมืองส่วนหนึ่งหันไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ความไม่พอใจต่อ 5 ปีของ คสช. ความไม่พอใจต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง รวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาล อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อขึ้นเป็น “กระแส” เมื่อสัมผัสกับการบดขยี้ ทำลาย พรรคอนาคตใหม่ ปรากฏการณ์ FLASH MOB อันปรากฏ ณ บริเวณลานสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ในเดือนธันวาคม 2562
คือการแสดงตัวออกมาอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ จึงไม่แปลกที่เมื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จึงปรากฏปรากฏการณ์ที่เรียกว่า FLASH MOB ในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยส่วนกลาง หากแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค
ไม่ว่าจะเป็นในภาคเหนือที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในภาคใต้ที่ปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานที่อุบลราชธานี ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นภาคกลางที่จันทบุรี นครปฐม ชลบุรี กระหึ่มด้วยเสียง “ออกไป ออกไป” ดังกึกก้อง
กระแส “ออกไป ออกไป” ที่ดังกระหึ่มในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเริ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยมีรากฐานอยู่กับการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง เด่นชัดว่า ประชาคม “ออนไลน์” ได้ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นการปฏิเสธจากการสรุประมวลผลงานนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก่อรูปเป็น “ประชามติ” ในทางสังคมอันหนักแน่น จริงจัง
กระแสนี้เริ่มขยายตัวไปแม้กระทั่งต่อกลุ่มที่เคยเห็นชอบกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และกลุ่มที่เคยเห็นชอบกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ว่าจะเป็น “ลุงเสรี” ไม่ว่าจะเป็น “ป้าอุ๊” ไม่ว่าจะเป็น “ลุงดี้” เมื่อเผชิญเข้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ยิ่งเป็นการทดสอบอันแหลมคมในประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของคำขวัญ “ผนงจทรตกม”
กลายเป็นความรู้สึกที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งและวางมือทางการเมืองโดยสิ้นเชิง เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาแสดงบทบาทและนำพาประเทศชาติและประชาชนให้รอดพ้นจากวิกฤตที่หมักหมมมาเป็นเวลากว่าทศวรรษนี่คือแนวโน้ม นี่คือกระแส
คือความเรียกร้องต้องการในทางการเมือง จากผลพวงการ สถานการณ์ที่ผ่านมา สะท้อนผ่านเลยเข้าไป กลางมรสุม พรรค พลังประชารัฐ หลังการประกาศลาออกยกทีมของ 18 กก.บริหาร ล้างไพ่ เพื่อให้ เลือกกันใหม่
เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด !