กรณีชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี นำเรือมากกว่า50ลำมาปิดบริเวณปากอ่าวบ้านดอน เพื่อทวงถามความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จนทำให้จนท.ทีมศรชล.ต้องเข้าเจรจานานกว่า6ชั่วโมงก็ได้ข้อยุติขอเวลา2เดือนในการแก้ไขปัญหาทำให้ชาวประมงพอใจและยอมสลายตัว
ล่าสุด วันที่ 12 มิถุนายน ได้มีประกาศจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรื่อง ให้หรือถอนสิ่งปลูกสร้างอาคาร (ขนำเป้าหอยและโฮมสเตย์) หรือสิ่งใดๆที่ได้ก่อสร้างหรือติดตั้งในที่จับสัตว์น้ำบริเวณอ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยอาศัยมาตรา 103 แห่งพระราชกำหนดประมง 2558 และแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้สร้างหรือติดตั้งรื้อถอนสิ่งนั้นออกจากที่จับสัตว์น้ำในระยะเวลาที่กำหนด 60วัน นับจากวันที่ออกประกาศลงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ลงนามโดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ในช่วงเช้า ได้เกิดปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มประมงพื้นบ้านหาหอยแครงกับผู้เลี้ยงหอยแครงในพื้นที่ อ.พุนพินและอ.ท่าฉาง ทำให้ น.อ.วศากร สุนทรนันท รอง ผอ.ศรชล.สุราษฎร์ธานี ได้ปล่อยแถวกำลังทหารเรือ ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดนจำนวน 30 นาย เพื่อนลงพื้นที่ไปรักษาความปลอดภัยในทะเลอ่าวบ้านดอน ในพื้นที่ ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน
โดยมีชาวบ้านทยอยนำเรือหางยาวขับไปจอดรอยังบริเวณคอกหอยกันเป็นจำนวนกว่า 200 ลำ เพื่อเตรียมจับหอย และเป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่ทั่วไปไม่มีเรือชาวบ้านไปรอจับหอยแครง แต่จะไปรวมกลุ่มกันอยู่ในบริเวณคอกหอยของผู้ประกอบการรายหนึ่ง โดยจะมีเรือนำที่ติดสัญลักษณ์ธงแดงไว้หัวเรือ คอยส่งสัญลักษณ์ รอเมื่อมีโอกาสก็จะลงตักเก็บหอย และเมื่อลงน้ำเพื่อตักเก็บหอยภายในคอกหอย ได้มีกลุ่มเรือผู้ประกอบการและชาวบ้านผู้เลี้ยงหอยแครงได้นำเรือออกแจ้งให้ทราบว่า เป็นพื้นที่เลี้ยงหอย มีการนำลูกหอยแครงมาอนุบาลไว้ พร้อมบันทึกเพื่อนำแจ้งความดำเนินคดีป้องกันทรัพย์สิน
ชาวบ้านที่จะลงไปจับหอยในพื้นที่ที่เจ้าของอ้างว่า นำหอยมาเลี้ยง ซึ่งมันเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย จึงให้เจ้าหน้าที่ที่ลงไปทำหน้าที่รักษากฎหมาย หมายถึงเจ้าของคอกหอยมีสิทธิ์ปกป้องทรัพย์สินของตนเอง โดยไม่ใช้อาวุธ และความรุนแรงใดๆ ทำได้แค่เพียงบันทึกภาพแล้วนำไปแจ้งความดำเนินคดี แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีการใช้อาวุธหรือความรุนแรงต้องเข้าไประงับเหตุให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย
นายประเสริฐ ชัญจุกรณ์ กำนันตำบลลีเล็ด กล่าวว่า ทางจังหวัดไม่กล้าออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงบอกให้ผู้ประกอบการถ่ายรูปคนที่มาจับหอยแครง เดิมทีทางจังหวัดประกาศให้ชาวบ้านจับได้ในเขต 1,000 เมตร แต่ขณะนี้ได้ลุกลามออกไปนอกเขตแล้ว ที่สำคัญบริเวณที่แห่งนี้ลูกหอยไม่เกิดซึ่งผู้ประกอบการได้ซื้อจากเขตอำเภอเมืองมาปล่อยไว้จริงๆ ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะแต่หอยแครงที่นำมาปล่อยไว้เป็นทรัพย์สิน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ โดยชาวบ้านเข้าใจว่าพื้นที่สาธารณะสามารถจับหอยได้ทั้งหมดซึ่ง มองว่ามันไม่ยุติธรรม จังหวัดควรดำเนินการกรณีพิพาทให้จบเสียก่อน โดยที่ผ่านมามติจังหวัด เมื่อปี 2557 อนุญาตให้ผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงได้ ซึ่งต้องยกเลิกประกาศดังกล่าวเสียก่อน แล้วให้มีการเลิกเลี้ยงโดยการแจ้งล่วงหน้า
นายชัยวุฒิ ศรีช่วย อายุ 38 ปี ชาวท่าฉาง ผู้ประกอบการเลี้ยงหอยที่มาคอยเฝ้าคอก กล่าวว่า ทำได้แค่ยืนดู ถึงจะห้ามปรามก็ห้ามไม่อยู่ อยากจะให้เจ้าหน้าที่ช่วยหยุดชาวบ้านจับหอยแครง เพราะผู้ประกอบการบางรายกู้หนี้ยืมสินมาซื้อลูกหอยจากพื้นที่อำเภอเมืองมาปล่อยในพื้นที่อำเภอพุนพิน อยากวิงวอนให้คนมาจับหอยแครงเห็นใจผู้ประกอบการบ้าง