วันนี้ลุ้น ศาลล้มละลาย มีคำสั่ง”รับ-ไม่รับ”คำร้องขอฟื้นฟู”บินไทย” เผย 6 ชื่อ”บอร์ดทีจี” เพื่อทำแผน ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟูตามที่มีการร้องขอและไม่ขัดต่อกฎหมาย
วันที่ 26 พ.ค.63 ตัวแทนจากบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากฎหมายการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยองค์ประกอบการการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯมี 3 ส่วนคือ 1.มูลเหตุของการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ 2.รายชื่อผู้ทำแผน และ 3.ความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูกิจการ
สำหรับรายชื่อผู้ทำแผนที่เสนอต่อศาลฯ มี 6 คนซึ่งเป็นบอร์ดของบริษัทการบินไทย ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ 2. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) การบินไทย 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 6.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
โดยรายชื่อที่ 3-6 นั้น ทางบริษัทการบินไทย เพิ่งแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังจากศาลล้มละลายกลาง ได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย มีคำสั่งว่าคำร้องมีรายละเอียดต้องพิจารณาและมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก จึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 พฤษภาคม และ หากศาลอนุมัติ คำร้องของฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยแล้ว
บริษัทฯจะแจ้งเจ้าหนี้มาประชุมว่าจะเห็นชอบผู้ทำแผนที่ฝ่ายลูกหนี้เสนอหรือไม่ หากที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบกับรายชื่อผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ ที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่หากฝ่ายเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบรายชื่อผู้ทำแผนที่ฝ่ายลูกหนี้เสนอ และต้องการเสนอผู้ทำแผนแข่ง ต้องใช้เสียงของที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การบินไทย ไปยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งจะต้องยื่นแผนและกำหนดชื่อผู้ทำแผนด้วย โดยต้องรอศาลพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ จะรอใช้สิทธิเจ้าหนี้ใ นการโหวตการทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งโดยกฎหมายคนที่ทำแผนกับผู้บริหารแผน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกัน
ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯแต่งตั้ง คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นคณะของรัฐบาล มีผู้บริหารจากหลายหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของการบินไทย และนำกลับมารายงานครม. ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูของการบินไทย เพราะหากมีอะไรที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วย กรรมการชุดนี้ก็จะเป็นผู้มารายงานให้ครม.รับทราบ
“ในฐานะรัฐบาลไม่ว่าจะเกี่ยวกับสายการบินไหนต้องมีเรื่องใบอนุญาตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลก็จำเป็นเข้าไปติดตาม ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม ซึ่งคณะกรรมการจะไม่สามารถไปแทรกแซงการทำแผนฟื้นฟู ไม่ไปกำกับดูแล รวมถึงไม่สามารถไปให้ความเห็นต่อการทำงานของการบินไทย ดังนั้นจึงไม่อยากให้เรียกว่าซูเปอร์บอร์ด” นายอุตตมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย 9 คน คือ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นประธาน , กรรมการ ประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายประสงศ์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง , นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) , นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. และนายประภาศ คงเอียด ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน และให้คำแนะนำและกลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟูตามที่มีการร้องขอและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ ให้รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อครม.เป็นระยะ