ท่ามกลางแรงกดดันจาก ฝ่ายค้าน และกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่ต้องการให้ ยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน2548ที่จะครบกำหนด 31 พ.ค.นี้นั้น กำลังเป็นที่จับตามองว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะอยู่อย่างไร และ อยู่ได้หรือไม่
หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งในการสู้ศึก กับเชื้อโควิด ที่ ยังคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ เพราะต้องรอผลหลังการผ่อนคลายมาตรการในเฟส 2 เมื่อ17 พ.ค. ที่กว่าออกผล ราวปลายเดือน พ.ค. และ ข้ามไป มิ.ย. หากมีการผ่อนคลายเฟส 3 ต่อ
และทั้งการสู้ศึกการเมือง ทั้งศึกนอก และ ศึกภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลเอง โดยเฉพาะ ผลพวงจาก ความเคลื่อนไหว ที่จะดัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นแท่น หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางกระแสต่อต้าน จาก กลุ่มของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนักการเมือง กลุ่มสามมิตรถึงขั้นขู่ที่จะแยกตัวไปตั้งพรรค “สร้างไทย” ดึง ส.ส. บางส่วน และกลุ่มทุน ไปตั้งพรรคใหม่
ดังนั้นหากไม่มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ใช้ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อแทน ก็จะทำให้ ศบค. ถูกยุบ อำนาจต่างๆ จะไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่เป็น รมว. สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ ฝ่ายทหาร ต่างต้องการให้ มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทั้งนี้เพราะการผ่อนปรน ในระยะที่ 2 ที่เริ่ม เมื่อ 17 พ.ค. 2563 นั้น
กว่าที่จะรู้ผลว่า จะส่งผลให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรอเวลาถึง 14 วัน ระยะฟักตัว ที่จะเริ่มตั้งแต่ 30 พ.ค. เรื่อยไป ซึ่งหาก ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 31 พ.ค. ก็จะทำให้ ศบค.ถูกยุบไป และไม่สามารถประกาศ เคอร์ฟิวได้ และห่วงว่า การนำ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อมาใช้ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะไม่ครอบคลุม และ ไม่รวดเร็วและ การประสานสั่งการ ไม่เป็นเอกภาพ เหมือนศบค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น single command และทุกฝ่ายเกรงใจ รวมทั้งฝ่ายทหาร
เพราะโดยข้อเท็จจริง ในคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ที่มีปลัดกระทรวงต่างๆ และอธิบดี ต่างๆ และ ผบ.ตร. ร่วมด้วยนั้น ไม่ได้ครอบคลุมฝ่ายทหาร ที่เป็นกำลังหลักด้านความมั่นคง ใน ศบค. มีแต่ ปลัดกลาโหม ที่ไม่ใช่ ผู้บังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งทำได้แค่ประสานงาน แตจะไม่มีอำนาจสั่งการ ดังจะเห็นได้จาก กรณีที่ ศบค. ตั้ง ผบ.ทหารสูงสุด เป็น หัวหน้า ศปม. คุมฝ่ายความมั่นคง เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นหนึ่ง ในการหารือของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ “บิ๊กแดง” พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. “บิ๊กนัต” พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. และ “บิ๊กแป๊ะ”พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. บนตึกไทยคู่ฟ้านานถึง 1 ชั่วโมง
หลังจากที่ ผบ.เหล่าทัพ มารับพระราชทานหน้ากากผ้าฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันพุธ 20 พ.ค. ที่ผ่านมาโดยมีรายงานว่า มีการหารือ เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับ ผบ.เหล่าทัพ ที่พร้อมสนับสนุน หากมีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน จนกว่า สถานการณ์จะคลี่คลาย มากกว่านี้
รวมทั้งหารือถึงสถานการณ์บ้านเมือง ที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ต่างๆ ที่พุ่งเป้ามายังฝ่ายทหาร และตัวพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวที่รออยู่ หากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่าการมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะไม่ได้ มีเป้าหมายที่เรื่องการเมือง แต่ก็เป็นผลพลอยได้ในการสยบความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ก่อนที่โควิด จะแพร่ระบาดมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษา
อีกทั้ง บางกลุ่มมีการประกาศไว้แล้วว่า หากหมดโควิด แล้วเจอกัน และก่อนหน้านี้ก็มีการปลุก mob from home และม็อบออนไลน์ จะว่าไปแล้วพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มี “กฎหมายพิเศษ” อยู่ในมือตลอด ตั้งแต่เป็นนายกฯในยุครัฐบาลคสช. 5 ปีก็มี “มาตรา 44” อยู่จนวาระสุดท้ายของคสช. และเมื่อมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้แค่ไม่กี่เดือนก็เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จนทำให้ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ เพียงผู้เดียว ในฐานะ ผอ.ศบค. จึงไม่แปลกที่ฝ่ายค้านจะใช้คำพูดเหน็บแนมว่า พล.อ.ประยุทธ์ หลบอยู่หลังโควิด
นัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานการณ์โควิด มาช่วยไว้ ไม่เช่นนั้นแล้ว จะอยู่ไม่รอด จนทุกวันนี้ ที่สำคัญ ยังทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ได้เป็นอย่างดี ฝ่ายค้าน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงยิ่งเดินหน้ากดดันให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อมีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้หน่วยความมั่นคง ทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในการต่ออายุ หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้ จึงมีการออกมาต่อต้านกันอย่างรุนแรง ว่าเป็นการชี้นำและหาเหตุผลในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่าไม่เคยสั่งการให้ กอ.รมน.ทำโพล และ สั่งยกเลิกทุกการทำโพลแล้ว ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ กอ.รมน. ถูกมองเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลและของทหารมาโดยตลอด แต่จะเห็นได้ว่าโพลสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาสังคมหลายแห่งก็พบว่าประชาชนต้องการให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไป จนกว่าสถานการจะคลี่คลายจริงๆ
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันว่า จะไม่ใช้โพล แต่จะใช้มาตรการทางสาธารณสุขเป็นตัวชี้วัด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น ในวันนี้ มีผลจากมาตรการต่างๆ เดือนที่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ดีขึ้นในวันนี้เป็นผลจากห้วงที่ผ่านมา ถ้าเราจะตัดสินใจทำอะไรเพื่อทำให้อนาคตดีขึ้น ต้องดูสถานการณ์ดีหรือไม่ดีวันนี้เป็นตัวตัดสิน การที่พล.อ.ประยุทธ์ พบปะ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ แบบพร้อมหน้า ท่ามกลางการเมือง ที่ร้อนระอุขึ้น
จึงกลายเป็น เรื่องที่ถูกจับตามอง และคาดการณ์กันว่า จะมีอะไร ในกอไผ่ ตามมาหรือไม่ ? โดย ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง 4 คน นี้ จะเกษียณราชการ ในอีก 4 เดือน ข้างหน้านี้แล้ว จึงจะต้องมีการเตรียม ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ ที่จะขึ้นมา แทน แต่เนิ่นๆ ล่าสุด ผบ.เหล่าทัพ เตรียมจัดทำโผโยกย้าย กันแล้ว แม้หลายตำแหน่ง ยังไม่ลงตัว
แต่เป้าหมายสำคัญ ต้องตอบโจทย์ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ได้เท่านั้น และ ผบ.เหล่าทัพ รู้คำตอบดีอยู่แล้ว นั่นคือ ต้องพร้อม สนับสนุน รัฐบาล ตลอด24 ชั่วโมง !