อธิบดีกรมบังคับคดี แนะทางออก บริษัทหนี้ท่วม จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ให้ยื่นศาล เข้ากระบวนการฟื้นฟู คงสภาพกิจการ เชื่อจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ
วันที่ 21 พ.ค.63 นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่าปัญหาการฟ้องร้องมีคดีความเพิ่มจำนวนมาก ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการภาคเอกชน บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจ ต้องผิดนัดชำระหนี้กับคู่สัญญาหรือเจ้าหนี้ อาจทำให้ถูกฟ้องบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลาย ทั้งที่ธุรกิจมีช่องทางที่จะดำเนินการต่อไปได้
ดังนั้นการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงเป็นทางออกที่สำคัญจะทําให้บริษัทที่ประสบปัญหาการชําระหนี้ แต่มีเหตุอันสมควร และมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ โดยบรรดาเจ้าหนี้ หรือ ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจํากัด หรือ บริษัทมหาชนจํากัด ที่มีหนี้สินเยอะมากหรือไม่สามารถชําระหนี้ตามกําหนดได้ และมีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท สามารถยื่นคําร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้มีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้
นางอรัญญา กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ใช่การล้มละลาย แต่เป็นการเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรักษามูลค่าขององค์กรธุรกิจไว้ โดยยังคงสภาพการจ้างงาน และธุรกิจสามารถดําเนินต่อไปได้ โดยเมื่อศาลรับคําร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการทําให้เกิดสภาวะพักชําระหนี้ (Automatic Stay) จะห้ามมิให้บรรดาเจ้าหนี้ฟ้องผู้ประกอบการเป็นคดีแพ่ง หรือ คดีล้มละลายต่อศาล และห้ามมิให้บังคับคดีแก่ทรัพย์ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ ทําให้ดําเนินการค้าตามปกติต่อไปได้
โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ซึ่งในการฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้และลูกหนี้จะมีโอกาสร่วมกันเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และทําแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ร่วมกันพิจารณา แก้ไขปัญหาทางธุรกิจของลูกหนี้ต่อไป
“การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นกระบวนการที่ช่วยให้บริษัทที่ประสบปัญหาการชําระหนี้ สามารถแก้ไขปัญหาให้ธุรกิจของลูกหนี้คงสภาพไว้ได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยการขอรับชําระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทําแผนแล้ว เจ้าหนี้ท้ังหลายต้องยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ภายในกําหนด 1 เดือน นับแต่วันที่มีคําสั่งตั้งผู้ทําแผน” นางอรัญญากล่าว
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led.go.th หรือติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 028875095-97 ได้ในเวลาราชการ