“ปิยบุตร” โพสต์ เฟซบุ๊ก ครบรอบ 120ปี ชาติกาล “ปรีดี พนมยงค์” ยกคำปาฐกถา ต่อต้านเผด็จการ มาเผยแพร่ อย่างละเอียด พร้อมแนะนำ วิธีการต่อสู้ ในอดีต มาตีแผ่ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน
วันที่ 12 พ.ค.63 เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์หัวข้อ “ ปรีดี พนมยงค์ เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร ” ระบุว่า 11 พฤษภาคม ปีนี้ ครบรอบ 120 ปี ชาตกาลของ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าเสรีไทย อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพื่อเป็นการร่วมรำลึก 120 ปี ชาตกาลของนายปรีดี ผมขอนำบางตอนจากปาฐกถาของนายปรีดี ในหัวข้อ “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” มาเผยแพร่ ดังนี้
“ขุมพลังต่อต้านเผด็จการที่แท้จริงของประเทศไทย คือราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคม ที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบอบเผด็จการและซากเผด็จการ … ขุมพลังนี้คือคนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทำกิน และคนมีทุนขนาดกลางซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองระบอบเผด็จการ
รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่งที่แม้ตนมีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักความเป็นประชาธิปไตยมองเห็นความทุกข์ยากของคนจน และคนส่วนมากที่ถูกเบียดเบียน จึงไม่ยอมเป็นสมุนรับใช้ของเผด็จการ และไม่ทำการใดๆ ที่จะแผลงประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการของพวกนายทุนหรือเป็นเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน (Dictatorship of the privileged class) นี่แหละขุมพลังมหาศาลจำนวนเกือบ 40ล้านคน ซึ่งเป็นราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคม
ผมเห็นว่าถ้าองค์การใดได้ขุมกำลังนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นพลังมากพอควรที่จะเป็นกองกำลังของราษฎรในการต่อต้านเผด็จการได้สำเร็จ ฉะนั้นขุมพลังมหาศาลเกือบ 40 ล้านคน ยังมีเหลืออีกมากมายที่หลายๆ องค์การจัดตั้งได้ โดยไม่จำต้องมีการกีดกันหรือกันท่าระหว่างกัน
ท่านที่ประสงค์ต่อต้านเผด็จการจะได้ขุมพลังอันแท้จริงนี้มาร่วมในการต่อสู้เผด็จการได้อย่างไรนั้น ไม่ใช่ปัญหาแห่งความท้อใจ แต่อยู่ที่ผู้ประสงค์ต่อต้านเผด็จการ ต้องมีความตั้งใจจริงในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยส่วนมากที่จะพ้นจากการคุกคามของฝ่ายเผด็จการ
พรรคใด, กลุ่มใด, จะต่อสู้เผด็จการโดยวิธีใดนั้นสุดแท้แต่ตนจะวินิจฉัยว่าตนสามารถถนัดใช้วิธีใด แต่เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกณฑ์ให้คนอื่นต้องถือตามวิธีที่ตนนับถือบูชาอย่างคับแคบควรทำจิตใจอย่างกว้างขวางถือว่าทุกวิถีทางบั่นทอนอำนาจเผด็จการย่อมเป็นประโยชน์ในการต่อต้านเผด็จการ การอ้างเหตุว่าถ้าใช้วิธีนั้นๆ จะทำให้ผู้ติดตามล้มตายนั้นก็เป็นเหตุผลที่เหลวไหล
ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการต่อต้านเผด็จการนั้นไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้เป็นวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้วสิ่งที่กฎหมายในเวลานี้อาจถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษเช่นกรณีขบวนการสันติภาพและกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้งยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างการ,ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร
การต่อสู้ใดๆ นั้น ย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้นไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เฉพาะด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วย คือฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรษฐกิจ, วิธีการเมือง, วิธีใช้กำลังทหารตำรวจ, วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบอบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้โดยอาศัยหลักทฤษฏีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วยแล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังของทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย ผมไม่อาจบรรยายให้ครบถ้วนในครั้งนี้ได้
แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง คือการที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการ อันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ
ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบอบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้นถ้าสมานสามัคคีกันต่อไปเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้