หน้าแรก ในประเทศ สมช.เล็ง! ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน 31พ.ค. รอถก ศบค. โต้ลั่น! ไม่เกี่ยว การเมือง
เลขาฯสมช.แย้ม อาจประกาศ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังครบกำหนด 31 พ.ค.63 แต่ต้อง นำเข้าที่ประชุม ศบค.พิจารณา อีกครั้ง ชี้ มีหลายปัจจัย ขึ้นอยู่ กับ ความปลอดภัยของ ปปช. โต้ลั่น ไม่เกี่ยว การเมือง
วันที่ 11 พ.ค.63 พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รวมถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกัน ทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ว่าควรจะต่ออายุ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ว่า ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะ 2 หน่วยงานดังกล่าว แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆทั้งของรัฐ และเอกชน ดำเนินการจัดทำโพลล์สำรวจความเห็นของประชาชน
ยืนยันว่าความคิดเห็นที่ได้จากการสำรวจ ความต้องการของประชาชนเป็นปัจจัยเพียงส่วนหนึ่ง ที่ต้องนำมาพิจารณาในที่ประชุมศูนย์บริหารจัดการหลักการการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผอ.ศบค. แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ ยกเลิกเคอร์ฟิว เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นต้องพิจารณาหลายๆด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และ ความปลอดภัยของประชาชน เช่นเดียวกับเคอร์ฟิว แม้บางกิจกรรม เช่น สถานบริการกลางคืน อย่างผับ บาร์ ยังไม่อนุญาตให้เปิด แต่ยังพบประชาชนออกมามั่วสุมในยามวิกาล เช่น ตั้งวงสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19
“อาจจะพิจารณาขยายเวลาออกไปจากเดิม ซึ่งต้องดูกิจกรรมที่จะผ่อนปรนในระยะที่ 2 ว่ามีอะไรบ้าง หากยังมีเคอร์ฟิวจะส่งผลกระทบอย่างไร หรือยกเลิกเคอร์ฟิว จะมีผลอะไรตามมา ส่วนหากจะขยายเวลาเคอร์ฟิวเป็นช่วงเวลาไหนนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องหารือในภาพรวมที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง สักวันก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่แล้ว ไม่สามารถใช้ไปตลอดได้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และประชาชน ก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้”
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังวันที่ 31 พ.ค.63 หรือไม่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ แต่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆด้านมาประกอบกัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาประเมินกัน และที่สำคัญต้องดูความร่วมมือของประชาชนและสถานประกอบการ รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้หรือไม่
ส่วนกรณีฝ่ายการเมืองโจมตีรัฐบาล ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงแล้ว เพราะไม่อยากให้มีการชุมนุมนั้น คงไม่เกี่ยว และอย่านำมาโยงกัน การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนล้วนๆ