เปิดปูม หนี้การบินไทยล้นพ้นตัว มรดกบาปทักษิณ

ปูมการบินไทย “การบินไทย” มรดกบาปจากใคร !บมจ.การบินไทย ทำไมจึงประสบภาวะการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง?

เพจ TG Union เปิดเผยข้อมูล ระบุว่า ปัญหาหลักใหญ่ที่สุดที่ทำให้ บมจ.การบินไทย ประสบปัญหาการขาดทุนสะสม มาจากการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเร่งรัดการซื้อเครื่องบินในช่วงปี 2544 เป็นต้นมา

1. การบินไทยซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ ในช่วงเวลานั้น แม้ทางสภาพัฒน์จะขอให้ทบทวน นี่คือจุดเริ่มต้นของการขาดทุน ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการบริษัทในช่วงรัฐบาลทักษิณ

2.ในปี 2547 รัฐบาลทักษิณเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนในสายการบิน จาก 70/30 มาเป็น 51/49 โดยให้แอร์เอเชียถือหุ้น 49% Shincorp 49% กุหลาบแก้ว 2% nominee
ผู้รับผิดชอบคือรัฐบาล

3.หลังจัดตั้งไทยแอร์เอเชีย คณะกรรมการบินไทยมีนโยบายมิให้ฝ่ายการพาณิชย์การบินไทยทำการแข่งขันกับไทยแอร์เอเชีย
ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการ

4.หลังจัดตั้งสายการบินนกแอร์ ฝ่ายบริหารนกแอร์ไม่ดำเนินการตามนโยบายคณะกรรมการบริษัทฯ การบินไทยก็มิได้เข้าไปควบคุมนโยบาย แม้จะมีเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4
ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการ

5.แทนที่จะเขาไปควบคุมสถานการณ์ในนกแอร์ คณะกรรมการกลับไปลงนามใน MOU เพื่อร่วมทุนกับ สายการบิน ไทเกอร์ ที่สิงคโปร์แอร์ไลน์ถือหุ้นในช่วงนั้น 49% โดยไม่ได้ศึกษาว่าสายการบินไทเกอร์ ขาดทุนติดกันหลายปี และถูกระงับการบินไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากด้อยความปลอดภัย ลงเงินไปแล้ว 100 ล้านบาท โครงการต้องล้มไปเพราะมีการต่อต้านว่า ชักศึกเข้าบ้าน
ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการ

6.เพียง 5 เดือนหลังโครงการไทยไทเกอร์ต้องล้มไป คณะกรรมการ จัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ ผลการศึกษา ปี 57,58,และ 59 จะทำกำไร 5,056 ล้านบาท ผลประกอบการจริง ขาดทุน -4,485 ล้านบาท
ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการ

7.ในช่วงจัดตั้งไทยสมายล์ คณะกรรมการบริษัทการบินไทย สนับสนุนให้นกแอร์ (การบินไทยถือหุ้น 39%) ไปร่วมทุนกับสายการบินสกู๊ต ซึ่งสิงคโปร์แอร์ไลน์ถือหุ้น 100% แม้ในปี 58 การบินไทยขาดทุน 13,047 ล้านบาท ยังอนุมัติเงิน 983 ล้านบาทเพื่อลงทุนในนกสกู๊ต
ผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการ

8.ปี 2557 สายการบินไทยสมายล์ขาดทุน 577 ล้านบาท และตามสัญญาเช่าเครื่องบินแบบ A320-200 จำนวน 12 ลำ บริษัทผู้ให้เช่าและบริษัทผู้เช่ามีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาโดยแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน ต้นปี 58 ICAO ให้ธงแดงประเทศ ซึ่งแน่นอนจะต้องกระทบผลดำเนินการของไทยสมายล์ ในปีเดียวกัน คณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดซึ่งมีท่านนายกฯเป็นประธาน มีมติให้การบินไทยชะลอการจัดหาเครื่องบิน และในปี 58 ไทยสมายล์ขาดทุน 1,843 ล้านบาท ควรทบทวนแผนการบินไทยสมายล์ ที่สามารถจะทำการยกเลิกจำนวนเครื่องบินที่เช่าลง แต่กลับไปเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 8 ลำ และผลประการปี 59 ที่ว่าจะกำไร 1,910 ล้านบาท มาเป็นขาดทุน 2,060 ล้านบาท

9.อนุม้ติการจัดซื้อระบบสำรองที่นั่ง Navitaire จากบริษัทที่โดนศาลสหรัฐปรับเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท ฐานรับสินบน ระบบดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของการบินไทยได้ เป็นการทำลาย Net work ของการบินไทย ในที่สุดต้องเลิกใช้ เสียหายไป 500 ล้านบาท

10. ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นการลงทุนในสายการบิน มีรัฐบาลจากการรัฐประหาร 2 รัฐบาล รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง 3 รัฐบาล คณะกรรมการบริษัทมิได้เสนอทางแก้ไขนโยบายดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียวเพื่อปกป้องผลประโยชน์บริษัท และสิทธิการบินซึ่งเป็นสมบัติของชาติ

ขณะเดียวกันกับการตรวจสอบข้อมูลผลประกอบการของ บมจ.การบินไทย ตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2547 สามารถสรุปนำเสนอเพื่อเชื่อมโยงไปสืบค้นข้อเท็จจริงในเชิงลึก ถึงต้นสายปลายเหตุต่อสถานะทางธุรกิจในปัจจุบันของต่อไป ดังนี้

1.ช่วงปี 2533-2539 ถือว่า บมจ.การบินไทย มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิโดยตลอด ด้วยมูลค่าเม็ดเงิน 1,381 – 4,191 ล้านบาท

2.ปี 2540 บมจ.การบินไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทลอยตัว มียอดขาดทุนทางบัญชี 25,203 ล้านบาท แต่มีการปรับปรุงยอดบัญชีในภายหลังทำให้ บมจ.การบินไทย ยังคงมีผลกำไรในปี 2540 ที่ 2,763 ล้านบาท

3.ปี 2541 – 2550 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวการประกาศนโยบายการบินเสรีในยุครัฐบาลทักษิณ ปรากฎว่า บมจ.การบินไทย ได้มีการขยายเส้นทางการบินและเพิ่มเที่ยวบินเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ทำให้ผลประกอบการของ บมจ.การบินไทยกลับมาเป็นกำไรสุทธิอีกครั้งด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1,929 – 12,453 ล้านบาท แม้ว่าจะบางช่วงธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐก็ตาม

4.ปี 2551 บมจ.การบินไทย มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิอย่างหนักถึง 21,314 ล้านบาท เพราะวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กอรปกับผลพวงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีความรุนแรงเป็นลำดับ ถึงขั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปจัดกิจกรรมขับไล่รัฐบาลภายในท่าอากาศยานสำคัญ ๆ หลายแห่ง

5.ปี 2552 – 2553 เมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลายรวมถึงเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวดีขึ้น ผลประกอบการ บมจ.การบินไทย ดีดกลับมาเป็นกำไรสุทธิอีกครั้งด้วยมูลค่า 7,416 – 15,398 ล้านบาท

6.ปี 2554- 2555 ผลประกอบการของ บมจ.การบินไทย มีลักษณะผันผวนตามปัจจัยต้นทุนน้ำมันโลกโดยมีตัวขาดทุนสุทธิ 10,162 ล้านบาทในปี 2554 และกลับมามีกำไรในปี 2555 ที่ 6,510 ล้านบาท

7.ปี 2556-2558 ผลประกอบ บมจ.การบินไทย ขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง หรือจาก 12,047 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 15,573 ล้านบาท ในปี 2557 และ 8,218 ล้านบาทในรอบครึ่งปีแรก 2558

ที่น่าสนใจคือนับตั้งแต่ปี 2544 หรือตั้งแต่ยุคเริ่มต้นรัฐบาลทักษิณเข้าบริหารประเทศเป็นต้นมา มีข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับยอดหนี้สินระยะยาวของ บมจ.การบินไทย โดยเฉพาะมูลค่าหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินดังนี้

ปี 2544 หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินตามรายงานประจำปี 2544 มียอดหนี้ 9,927 ล้านบาท แต่มีการปรับปรุงตามรอบบัญชีใหม่และแสดงในรายงานประจำปี 2545 เพิ่มเป็น 44,822 ล้านบาท
ส่วนปี 2545 ยอดหนี้ภายใต้สัญญาเช่าเครื่องบินของ บมจ.การบินไทย อยู่ที่ 34,801 ล้านบาท จากนั้นก็มีการปรับขึ้นโดยเฉลี่ยแทบทุกปี คือ
ปี 2546 จำนวน 35,292 ล้านบาท
ปี 2547 จำนวน 39,672 ล้านบาท
ปี 2548 จำนวน 49,101 ล้านบาท
ปี 2549 จำนวน 53,486 ล้านบาท
ปี 2550 จำนวน 70,572 ล้านบาท
ปี 2551 จำนวน 65,336 ล้านบาท
ปี 2552 จำนวน 68,028 ล้านบาท
ปี 2553 จำนวน 54,732 ล้านบาท
ปี 2554 จำนวน 47,793 ล้านบาท
ปี 2555 จำนวน 61,611 ล้านบาท
ปี 2556 จำนวน 63,319 ล้านบาท
ปี 2557 จำนวน 61,389 ล้านบาท

กล่าวโดยสรุปว่าข้อมูลตัวเลขที่แสดงให้เห็นบางส่วนค่อนข้างชัดเจนว่า สถานะทางการเงินของ บมจ.การบินไทย มีความเปลี่ยนแปลงจากบวกเป็นลบอย่างชัดเจนในช่วงยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งอนุมัติทุ่มซื้อเครื่องบินตามนโยบายที่กำหนดออกมาว่า “การบินเสรี” และอ้างว่าเพื่อรองรับการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ซึ่งกรณีนี้ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนต่อไปว่าจริงหรือไม่ หรือเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการเมืองที่สร้างปัญหาให้กับ บมจ.การบินไทย มาจนถึงทุกวันนี้

TG UNION