ศบค.แถลงพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็นชายชาวนราธิวาส ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดป่วยสะสม 2,988 ราย ผลค้นหาเชิงรุก 40 รายที่ยะลา ยังรอผลสรุป เผย 2 สัปดาห์เจอผู้ป่วยจากศูนย์กักกันต่างด้าวมากสุด 60 ราย ห่วงผ่อนปรนวัยทำงานออกนอกบ้าน เสี่ยงเป็นพาหะต้องระวัง
วันที่ 5 พ.ค.63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันรายใหม่แค่ 1 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดผู้ป่วยสะสม 2,988 ราย หายป่วยกลับบ้านรวม 2,747 ราย เสียชีวิตรวม 54 รายเท่าเดิม รักษาตัว รพ. 187 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป็นวัยทำงาน 20-39 ปี ที่ออกจากบ้านมากที่สุด เป็นพาหะนำเชื้อที่ต้องเฝ้าระวัง เข้มงวด ในช่วงผ่อนปรนที่ผ่านมา
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 1 รายนี้ เป็นชายไทย อายุ 45 ปี มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ภูมิลำเนา จ.นราธิวาส วันที่ 25 เม.ย. มีอาการไอ ไข้ น้ำมูก เจ็บคอ เสมหะ หายใจเหนื่อย รักษาที่ รพ. พบมีอาการปอดอักเสบ โดยรักษา รพ.แห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส เก็บส่งตัวอย่างหาเชื้อผลออกมายืนยันวันที่ 4 พ.ค. ปัจจัยเสี่ยงมีความหลากหลาย ทั้งประวัติเดินทางไปศาสนสถาน ไปร่วมศาสนพิธีในต่างประเทศ มีประวัติสัมผัสครอบครัวชุมชน ยังต้องหาสาเหตุมาจากที่ใด ยังไม่ได้เจาะจงลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ส่วนผลการค้นหาเชิงรุก 40 รายที่ จ.ยะลาต้องตรวจเพิ่มแล็บครั้งที่ 3 เพื่อยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอให้รอก่อน เพต้องเก็บตัวอย่างทบทวนกระบวนการทั้งหมด ซึ่งช่วงบ่ายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รัฐมนตรีว่าการ สธ. ปลัด สธ.และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์กรแทพย์ จะมีการประชุมปรึกษากัน เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ ให้เห็นถึงมาตรฐานการดูแลการทำห้องปฏิบัติการต่างๆ ด้วย
สำหรับการกระจายตัวของผู้ป่วยยังคงเดิม มีผู้ป่วยในช่วง 28 วัน 34 จังหวัด และไม่มีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่แรกเลย 9 จังหวัด ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มก้อนที่พบผู้ป่วยมากที่สุดใน 2 สัดาห์ที่ผ่านมา มาจากศูนย์กักกันต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเจอ 60 ราย สัมผัสผู้ป่วยรายงานก่อนหน้า 49 ราย ค้นหาเชิงรุก 31 ราย สถานกักกันรัฐ 13 และตลาดนัด 8 ซึ่งเป็นเรื่องต้องระวังเมื่อมีการผ่อนปรน
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึง การสำรวจออนไลน์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตลอด เม.ย. 2563 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 99,865 ราย เป็นหญิงมากกว่าชาย โดยหญิงเป็น 71.6% อยู่ช่วงวัยทำงานมากสุด ความรู้ปริญญาตรีถึงสูงกว่า 84% พบว่า 99.8% เข้าใจว่า ควรทำมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ขณะที่ 93.8% คิดว่า มาตรการอยู่บ้านช่วยลดการระบาดของโรคได้ สำหรับพฤติกรรมป้องกันตนเอง พบว่า ใส่หน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย 91.2% ล้างมือ 87.2% กินร้อน ช้อนตัวเอง 86.1% รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร 65.3% ไม่จับหน้าจมูกปาก 62.9% ซึ่งความร่วมมือต้องมากกว่า 90% ขึ้นไป ซึ่งพฤติกรรมบางส่วนยังคงต่ำอยู่ โดยเฉพาะระยะห่างและไม่จับหน้าตัวเอง อยู่แค่ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถือว่ายังไม่ผ่าน จึงต้องมาช่วยกันในช่วงการผ่อนปรน ที่จะไปใกล้ชิดมากขึ้นอย่างร้านอาหารที่ไปนั่งใกล้ชิดกัน สูดเส้นก๋วยเตี๋ยวก็กระเด็นได้
ทั้งนี้ สถานที่ประชาชนเห็นว่า ควรเปิด คือ ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้าง 69.9% ซึ่งตลาดสด ร้านสะดวกซื้อเปิดแล้ว ขณะที่ร้านตัดผม คลินิกเสริมวามงาม นวดแผนโบราณ สปา 45.7% ซึ่งเราเปิดร้านตัดผมแล้ว สถานที่เห็นว่ายังไม่ควรเปิด คือ สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขันสนามม้า 90.5% ผับ สถานบริการ สถานแสดงมหรสพ อาบอบนวด 89.9% ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถมมัธยม 64% มหาวิทยาลัย 56.5% สนามเด็กเล่น สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สวนสาธารณะ 49% แหล่งท่องเที่ยวธรรมขาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน 49.4% ร้านอาหาร ร้านกาแฟ 43% สถานีขนส่งหรือโดยสาร 42%