คณบดีศิริราช เผย ไทยคุมโควิด-19 ได้ดี ถึงเวลา”ผ่อนปรน” ด้วยยุทธศาสตร์ “ทุบด้วยค้อนแล้วปล่อยให้ฟ้อนรำ” แต่ต้องระวัง 8 เรื่อง อย่าผ่อนผันเร็วและมากเกินไป คนกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ มีโรค ยังไม่ควรออกนอกบ้าน
วันที่ 27 เม.ย.63 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ควบคุมโรคได้ดี เพราะคนไทย ให้ความร่วมมือกัน การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ นั้นต้องใช้ยุทธศาสตร์ทุบด้วยค้อนแล้วปล่อยให้ฟ้อนรำ (The Hummer and The Dance) คือ การออกมาตรการควบคุมต่างๆ อย่างเข้มงวดทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง แต่การควบคุมอย่างเข้มงวดนี้ไม่ควรนานเกินไป เพราะสิ่งที่แลกมาคือเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่บอกให้อยู่บ้าน อย่าทำงาน อย่าเข้าไปในพื้นที่สัมผัสชุมชน รายได้ก็ลดลง ขาดงาน มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ คนอยู่บ้านนานๆ ความตึงเครียดในสังคมจะเพิ่มมากขึ้น จุดหนึ่งอาจรับไม่ได้ โดยปกติไม่ควรเกิน 1-2 เดือน แล้วต้องหาทางผ่อนคลายที่ต้องสมดุลทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือ ปล่อยให้ฟ้อนรำ หรือการผ่อนคลาย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึง การเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ หรือ ผ่อนคลายนั้นต้องพิจารณาจากปัจจัยหรือตัวชี้วัดหลายอย่าง เช่น ค่าการแพร่กระจาย การทดสอบ ติดตาม การกักกันบุคคลเราทำได้ดี มีทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด การให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเราทำได้ดี สังคมไทยร่วมมือดีมาก ใส่หน้ากาก ล้างมือ เก็บตัวอยู่บ้าน ทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้สังคมเราทำได้ดี
ทั้งนี้ ข้อพึงระวังจากการควบคุมมาสู่การผ่อนผัน คือ 1. ผู้ติดเชื้อใหม่อาจเพิ่มขึ้น และอาจมีผลต่อการตัดสินใจกลับมาควบคุมอีกครั้ง 2. การผ่อนผันที่เร็วและมากเกินไปเป็นสาเหตุของการเพิ่มผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศ 3. การผ่อนผันควรค่อยเป็นค่อยไป ให้เริ่มทำกิจกรรมที่สำคัญ แต่อาจต้องกลับมาควบคุมถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง 4. การปรับตัว เข้าใจ และมีวินัยของคนทั้งประเทศ มีส่วนสำคัญต่ออัตราเร็วของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 5. การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การป้องกันตนเองและสังคม โดยใส่หน้ากาก การล้างมือ ยังเป็นเรื่องที่ต้องกระทำต่อเนื่อง
6. การผ่อนผัน คือ การผ่อนผันการออกจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ใช่ผ่อนผันล้างมือ ใส่หน้ากาก แต่ยังต้องเข้มงวดกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ หมายความว่าเมื่อคนไทยออกไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่ได้ กิจกรรมนั้นต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายทั้งคนออกไปทำกิจกรรมและผู้ประกอบการ เมื่อกลับมาต้องไปอยู่บ้าน อย่าไปอยู่ทั้งวันนอกบ้านนานยิ่งโอกาสแพร่มากขึ้น 7. ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ขอให้งดออกจากบ้านอีกระยะหนึ่ง เพราะอาจนำมาสู่การเสียชีวิตจากอาการรุนแรงได้ และ 8. ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะผิดพลาดที่จุดใดจุดหนึ่งอาจกระทบทั้งประเทศ