ความพยามของ “6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เสนอให้ เปิดสภาฯ เป็นกรณีพิเศษ “เร่งด่วน” พิจารณา สถานการณ์ โควิด-19 เห็นชอบ พรก.เงินกู้ฉุกเฉิน ส่อเค้าเป็นหมัน จากกระแสต้าน ชั่วโมงนี้ ไม่ใช่เวลา “เล่นการเมือง”
ข้อเสนอของ ” 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะมีความหมาย มากพอที่จะทำให้ “รัฐบาล” ยอมให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อรับทราบ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 หรือไม่?
กรณีนี้ กำลังเข้าสู่การพิจารณา ของ วิปรัฐบาล วันที่ 27 เม.ย.63 ซึ่งเป็นประเด็นการเมืองที่ วิปรัฐจะพิจารณาว่า สมควรเสนอให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องรับทราบ หรือไม่
เพราะจับสัญญาณกันแล้ว ชั่วโมงนี้ ประเด็นการเมือง ไม่อยู่ในสายตาของ “บิ๊กตู่” รวมทั้ง กรณีที่ ผลโพลจากหลายสำนัก ในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา เห็นตรงกัน ปัญหา การเมือง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มากกว่า การแก้ไขความเดือดร้อนของ พี่น้องประชาชน
กระนั้นก็ตาม อีกมุมหนึ่ง ก็สะท้อนว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ตามบทบาทของแต่ละฝ่าย อย่าลืมว่า งบฯกว่าแสนล้านบาท ที่ รัฐบาล งัด พ.ร.ก.เงินกู้ฯ นำออกมาใช้ ในที่สุด ก็ต้องเข้าสู่ กระบวนการนิติบัญญัติ ตามเงื่อนไข เพื่อสภาฯให้เห็นชอบ ดังนั้น การนำเรื่องนี้ เข้าสู่สภาฯ จึงมีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน!
ดังนั้น ตลอดหลายวันที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ต่อเนื่อง และเริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น นั่นคือการออกมากดดันให้มีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาประเด็นที่ฝ่ายค้านเห็นว่า เป็น “เรื่องด่วน” และมีความสำคัญ
นั่นคือ การเปิดประชุมสภาฯเพื่อให้มีการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 และการเสนอให้มีการใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
และดูเหมือนว่าจากเสียงเรียกร้อง ได้กลายเป็น “แรงกดดัน”เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติ ยื่นหนังสือไปถึง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และในฐานะ “ผู้อำนวยการ ศบค.” ขอให้เปิดประชุมสภาฯ
การขยับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แทบไม่ได้รับความสนใจ ด้วยเหตุที่เวลานี้ทุกกิจกรรม ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เพราะอยู่ในช่วงของการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ออกมาตรการและมีข้อห้าม ดังนั้นจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายรัฐบาล หยิบยกขึ้นมาเพื่อหักล้าง สิ่งที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ
ข้อเรียกร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคที่ต้องการใช้เวทีสภาฯ เพื่อยื่นข้อเสนอแนะ และ “ข้อสังเกต” การใช้งบประมาณ ไปกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จึงไม่มีใครขานรับ
ที่สำคัญประเด็นใหญ่ ที่สาธารณะให้ความสนใจมากกว่า คือการพิจารณาว่ารัฐบาลจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกหรือไม่ เมื่อครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ไปแล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาของพรรคฝ่ายค้านดูเหมือนว่ายังไม่จบลงเพียงแค่การออกแรง ส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพราะในความเป็นจริงแล้ว “นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุแล้วว่า การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญของสภาฯ
จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ส.หนึ่งในสาม หรือ 246 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 213 เสียง จำเป็นต้องขอเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.อีก 33 เสียง
เมื่อเกมนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายค้านต้อง “ออกแรง” มากขึ้น เพราะต้องไปร้องขอ เสียงจาก ส.ส.จากปีกรัฐบาลแล้ว ยังต้องประสานความร่วมมือไปยัง “ส.ว.” อีก ซึ่งล้วนแล้วแต่ มีความเป็นไปได้ “น้อยมาก” เพราะ ท่าที ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่ล้วนแล้วแต่สังกัดใต้เงารัฐบาล ต่างประสานเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย
และยิ่งน่าสนใจไปกว่านั้น ยังต้องลุ้นกันในช็อตต่อไปด้วยว่า วันที่ 28 เม.ย.นี้ รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปจนถึงวันไหน และจะเพิ่มความข้นของมาตรการใดๆ ขึ้นมาอีกหรือไม่
นาทีนี้ ประเมินกัน เบื้องต้น ข้อเสนอ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน น่าจะเป็น หมัน มากกว่า !