ปลดล็อคต้องรอ! โฆษกศบค.เผยค่ารักษาคนละ 1 ล้าน แนะปรับวิถีชีวิต

โฆษกศบค.เผย ต้องใช้เงินรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คนละ 1 ล้านบาท รวมประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว ปลดล้อคต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน แนะใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ New Normal

วันที่ 24 เมษายน 2563 – นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เปิดเผยว่า กรณีที่ประเทศไทยมีการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด–19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าเปรียบเทียบมาตรการแล้วคล้ายกับต่างประเทศ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อของเรายังอยู่ที่ 10 – 30 คน เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการต่าง ๆ หลายส่วนประกอบกัน

ด้านหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับชุดข้อมูล ที่ได้มีการรายงานกันทุกวัน และมีการนำชุดข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การที่ได้รายงานข้อมูลต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้ทราบ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อทราบแล้วประชาชนก็จะเกิดความเข้าใจ และจะส่งผลให้เกิดเป็นความร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นข้อมูลข่าวสารจึงมีความสำคัญ ด้านที่สองคือเรื่องของระบบบริหารจัดการ ตั้งแต่ระดับสูงสุดคือระดับประเทศ รัฐบาล และศูนย์ ศบค. ลงไปถึงระดับของจังหวัด

ซึ่งเป็นจุดปฏิบัติการที่เบ็ดเสร็จสำเร็จ สามารถสั่งการลงไปได้ถึงระดับบุคคลได้ รวมไปถึงตัวบุคคลคือพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมืออย่างดี เรามีความภูมิใจในประเทศของเรา ที่มีทั้งระบบสาธารณสุขที่วางรากฐานไว้เป็น 100 ปี ขณะเดียวกันก็มีระบบของ อสม. ที่ดูแลในระดับล่างสุด คือ 1 คน ต่อ 10 ครัวเรือน

ที่สำคัญที่สุดคือประชาชนอีกประมาณ 60 กว่าล้านคนที่จะต้องร่วมมือกับเราให้ได้ใกล้เคียง 90% หรือ 100% จึงจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรค เพราะฉะนั้นเครดิตตรงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องได้รับรางวัลความสำเร็จนี้ไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับกรณีแนวโน้มการคลายล็อกของแต่ละจังหวัดที่เริ่มมีการประกาศให้สถานประกอบการ หรือสถานที่บางประเภทกลับมาเปิดให้บริการได้ โดยแต่ละจังหวัดสามารถประกาศได้เอง หรือต้องประสานกับทาง ศบค. ก่อน หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ ศบค. จะเป็นผู้ที่ตัดสินใจในระดับสูงสุด และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนจึงมีการประกาศออกมาเป็นกฎใหญ่ของทั้งประเทศ

ส่วนเรื่องการผ่อนคลายของแต่ละจังหวัด จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น ซึ่งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน มีภาคเอกชนเป็นที่ปรึกษา กำลังทำงานกันอยู่

“ถ้าจะต้องผ่อนปรนหรือคลายมาตรการต่าง ๆ จะต้องมีการประชุมปรึกษากัน โดยคณะที่ปรึกษาฯ จะนำเสนอให้ ศบค. ตัดสินใจ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ กิจการกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำได้หรือไม่ได้ก็จะค่อย ๆ ทยอยแจ้งออกมา สิ่งต่าง ๆ จะถูกคิดตรองอย่างรอบด้าน เมื่อออกมาแล้วคนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย มาตรการทั้งหลายต้องไม่กระทบต่อการแพร่ระบาดของโรค เพราะจะให้เกิดการแพร่รอบ 2 หรือรอบ 3 ตามมาอีกไม่ได้ เนื่องจากจะเกิดการสูญเสียทั้งเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิต รวมถึงงบประมาณ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้องใช้งบประมาณคนละประมาณ 1 ล้านบาท ถ้าดูตามตัวเลขผู้ป่วย ได้ใช้เงินไปแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท แม้ตอนนี้การเสียเงินเรื่องของการรักษาลดลง แต่ก็ยังมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องมีการตัดสินใจร่วมกันอย่างรอบคอบ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า หากประชาชนสงสัยว่าตนเองอาจจะได้รับเชื้อโควิด-19 จะสามารถได้รับการตรวจหาเชื้อฟรีหรือไม่ว่า บุคคลที่จะได้รับการตรวจฟรีจะต้องมีอาการและปัจจัยเสี่ยง คือ 1. มีไข้หรือมีประวัติว่ามีไข้ 2. มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ปอดอักเสบ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ประกอบอาชีพที่ต้องติดต่อกับคนจำนวนมาก การเดินทางไปห้างสรรพสินค้า ตลาด หรือพื้นที่ชุมชนที่มีความแออัด มีประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้นจะทำให้สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาได้

โดยเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ทั้งข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง สำหรับบุคคลใดที่มีอาการฉุกเฉิน เช่น มีไข้สูง สามารถเข้ารับการตรวจได้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งนี้ ภาครัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ในส่วนนี้ด้วย

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประชาชนที่มีความประสงค์จะบริจาคสิ่งของให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 สามารถนำไปบริจาคได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันปฏิบัติอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ

ซึ่งในขณะนี้มีหลายสถานที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดระบบการบริจาค ยกตัวอย่างวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ที่มีการสำรวจตามพื้นที่ชุมชนว่ามีความต้องการในระดับไหน จัดระบบในวันที่มีการรับมอบของบริจาค เช่น ระบบพักคอยเว้นระยะห่างสำหรับบุคคล จุดตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อลดความแออัด ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครมีการเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเลือกพื้นที่ที่จะเข้าไปบริจาค ที่มีมากกว่า 71 จุด ผ่านเว็บไซต์ http://bkkhelp.bangkok.go.th/

สามารถเลือกจุดบริจาคได้และมีหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงานจากสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้ผู้บริจาคดำเนินการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ติดต่อหน่วยราชการ ศาลากลางทุกแห่ง ซึ่งจะมีการประสานงานให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกในการจัดสถานที่ พร้อมทั้งแนะวิธีการแจกของอย่างถูกต้อง เพื่อให้ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนดูแลบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ทั้งค่ารักษาพยาบาล สิทธิพิเศษสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการฌาปนกิจสงเคราะห์ และสงเคราะห์ครอบครัว โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) ได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ เพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรดังกล่าวต่อไป

ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวถึง ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เป็นแนวทางที่หลายคนต้องปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรม ทั้งการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรค รวมถึงการปรับเปลี่ยนทางด้านธุรกิจต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมฝากว่า วิถีชีวิตใหม่ของท่านจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ทั้งตนเอง ครอบครัว การงาน และเราจะมีชีวิตอย่างมีความสุขไปด้วยกัน