“อัษฎางค์ ยมนาค” นักประวัติศาสตร์การเมือง ย้อนอดีตการเมืองไทย หัวข้อ “สกายวอล์คเกอร์เข้าสู่ดาร์กไซด์ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เผยความสัมพันธ์ “ทักษิณ-สมคิด-ประยุทธ์”
วันที่ 23 เม.ย. 63 นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ เขียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ นายทักษิณ ชินวัตร เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” เมื่อสกายวอล์คเกอร์เข้าสู่ดาร์กไซด์ โดยมี สื่อเวปไซด์ “ไทยโพสต์” และ “แนวหน้า” นำเสนอ รายละเอียดดังนี้
2 จอมทัพ กับ 1 กุนซือ
กับประชานิยมและประชาไม่นิยม
ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้
จุดเริ่มต้นของไทยรักไทย มาจาก ทักษิณ ชินวัตร ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ที่มีความสนใจการเมืองมาโดยตลอด แต่คุณหญิงอ้อ ไม่เคยเห็นด้วยและคัดค้านมาโดยตลอดเช่นกัน
แต่สุดท้ายทักษิณก็ดื้อลงเล่นการเมือง โดยเข้าพรรคพลังธรรมจนได้
พอพลังธรรมยุบ คุณหญิงอ้อ ยิ่งคัดค้านหนักกว่าเก่า
แต่คนที่เป็นสะพานให้ก็คือ พานทองแท้ ที่เข้าไปคุยกับแม่ว่า พ่อประสบความสำเร็จในธุรกิจจนไม่มีอะไรทำ ต้องปล่อยให้พ่อได้แก้มือ เพราะพ่อเป็นคนไม่เคยอยู่นิ่ง
ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเมือง ทักษิณมีก๊วนเพื่อน ที่เที่ยวเล่น และสนทนาทั้งธุรกิจและการเมืองด้วยกันหลายคน
เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำเสื้อเหลืองในเวลาต่อมา พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลน้าชาติ เฉลิม อยู่บำรุง ภูมิธรรม เวชยชัย และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นต้น
เรื่องจริงที่เป็นสัจธรรมของโลกอย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่เราเป็นคนธรรมดา เพื่อนที่ใกล้ชิดที่อยู่เคียงข้างให้คำปรึกษาจะเป็นคนกลุ่มหนึ่ง
แต่พอเราเติบโตมีชื่อเสียง มีอำนาจ จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง เบียดเสียดคนใกล้ชิดเก่าๆ ออกไป แล้วกลายเป็นคนใกล้ชิดแทน
เพื่อนเก่าและใหม่นี้ มีความมุ่งหวังที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งจริงใจ ฝ่ายหนึ่งมองที่ผลประโยชน์
สุภาษิตโบราณที่ว่า คบคนพาล คนพาลพาไปหาผิด ยังคงขลังอยู่เสมอ
ปี 2549 ช่วงสนธินำกลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหว จนเข้าใกล้รัฐประหาร มีอยู่วันหนึ่ง มีกลุ่ม รมต.ในรัฐบาลทักษิณ นัดไปกินข้าวกันในร้านอาหารอิตาเลียนในซอยต้นสน
หนึ่งในนั้นคือ ดร.สมคิด
แล้วหลังจากนั้นก็มีเสียงกระซิบไปเข้าหูทักษิณ จนเป็นเหตุให้ทักษิณเริ่มไม่ไว้ใจดร.สมคิด
ดร.สมคิด เป็นมันสมองด้านเศรษฐกิจให้กับทักษิณ ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งพรรคไทยรักไทย นโยบายเศรษฐกิจของไทยรักไทยมาจาก ดร.สมคิดเป็นส่วนใหญ่
แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อเพื่อนเก่าโดนเบียดออกไป แล้วแทนที่ด้วยเพื่อนใหม่ ที่เข้ามาด้วยผลประโยชน์ของอำนาจทางการเมือง เรื่องดราม่ามากมายก็เริ่มเกิดขึ้น จนนำไปสู่ความหวาดระแวง
หลังปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลทหารตั้งหม่อมอุ๋ยเป็นรองนายกด้านเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ตั้ง ดร.สมคิดเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ทำให้ หม่อมอุ๋ย หวาดระแวง
หลังจากมีการเลือกตั้งในปี 50 มีการตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่มี ดร.สมคิด เป็นหนึ่งในแกนนำ แต่เกิดความไม่ลงรอยกัน จนทำให้พรรคไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แล้วหลังจากนั้น ดร.สมคิด ก็หายไปจากการเมือง
เขาหายไปตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ โดยมีหนึ่งในกรรมการของมูลนิธินี้ ชื่อ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งปัจจุบันคือ เลขาธิการพรรคประชารัฐ
จนวันหนึ่งหม่อมอุ๋ยโดนปรับออกจากคณะรัฐมนตรี ดร.สมคิด ก็ถูกชวนให้กลับสู่การเมือง ในตำแหน่งรองนายกอีกครั้ง
ถ้าพวกเราสังเกตดูดีๆ คงเคยรู้สึกว่า ทำไมนโยบายเศรษฐกิจของ รัฐบาล คสช จึงมีนโยบายประชานิยมที่คล้ายกับของไทยรักไทยมากเหลือเกิน
อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะนึกอะไรออกมั้ย ว่า เจ้าของไอเดีย นโยบายประชานิยม มีใครเป็นแกน
ถ้านึกไม่ออก จะบอกให้
ดร. สมคิด เป็นนักยุทธศาสตร์
เป็นปรมาจารย์ทางการตลาด ที่เคยเรียนวิชาการตลาดมาจากปรมาจารย์ทางการตลาดระดับโลกที่อเมริกามาก่อน
ฉายา ตาดูดาว เท้าติดดิน ที่คนเข้าใจมาโดยตลอดว่าคือทักษิณนั้น จริงๆ คนที่ตาดูดาว เท้าติดดินก็คือ ดร.สมคิด
เขาคือกำลังสำคัญที่คิดนโยบายประชานิยมอันเลื่องชื่อ ที่ทำให้ไทยรักไทย ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนซื้อใจประชาชนเกือบทั้งประเทศเอาไว้ได้ และทำให้ทักษิณ เป็นที่ชื่นชมว่า มีความสามารถในการสร้างเศรษฐกิจที่มั่งคั่งให้กับชาติและประชาชน จนถึงปัจจุบัน
แต่ทำไม เมื่อเจ้าตำหรับประชานิยมมาอยู่กับลุงตู่แล้ว กลับไม่ฟู่ฟ่าเหมือนเมื่อครั้งที่อยู่กับทักษิณ
ให้เวลาคิด หนึ่งนาที
ดร.สมคิด คือยอดกุนซือทางด้านเศรษฐกิจ เขาเรียนมาทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์และการตลาด มีฝีมือจัดจ้านทั้งการเงินการคลังและการตลาด ที่หาตัวจับยากในเมืองไทย
แต่กุนซือก็เป็นเพียงนักคิด
ส่วนคนที่ตัดสินใจคือจอมทัพ
จอมทัพที่ชื่อทักษิณนั้น เก่งกาจทั้งการค้าและการเมือง จะหาใครในประเทศไทยที่เก่งทั้งการค้าและการเมืองอย่างทักษิณไม่ได้ง่ายๆ แทบหาไม่เจอ หรือยังหาไม่เจอด้วยซ้ำ
โครงการเศรษฐกิจการเมืองระดับปรมาจารย์ของ ดร.สมคิด เมื่อเสนอไปที่ทักษิณนั้น เขาจะมองทะลุทันที ว่าอันไหนจะทำหรือไม่ทำ และจะทำอะไรก่อนหลัง อะไรมากน้อยแค่ไหน และจะอันไหนจะเริ่มก่อนหลัง
มันจึงออกมาเป็นผลงานบันลือโลก ที่ฝังใจประชาชนจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน แล้วก็ยังมีคนจำนวนมากจำได้ และทำให้คนเหล่านั้นสนับสนุนเขาไม่เปลี่ยนแปลง
แต่เพราะความหวาดระแวง
จากคติพจน์ “อยู่ข้างหลังแต่อย่าบังมิด”
ที่แปลกว่า ทักษิณอยู่ข้างหลัง ที่ถ้ามีอะไรผิดพลาด คนข้างหน้า คือ ดร.สมคิด ก็รับผิดไป แต่ถ้าสำเร็จ คนต้องเห็นว่า มีทักษิณเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จ
แต่เมื่อนโยบายประชานิยมประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ภาพดร.สมคิด ที่อยู่ข้างหน้าเริ่มบังทักษิณที่อยู่ข้างหลังจนมิด จนนำไปสู่ความหวาดระแวง
เมื่อหวาดระแวง ความสัมพันธ์ก็พังในที่สุด
เก่งได้ แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
เมื่อดร.สมคิด ย้ายข้าง ความเป็นกุนซือระดับปรมาจารย์ก็ยังคงติดอยู่ที่ตัวเขา
แต่…
จอมทัพคนใหม่ไม่ได้ชื่อทักษิณ
แต่ชื่อประยุทธ์ นายทหารอาชีพ
ที่ไม่เคยรู้เรื่องเศรษฐกิจ ไม่มีชั้นเชิงทางด้านการเมือง ไม่มีพื้นฐานการทำธุรกิจ
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณนึกภาพออกรึยัง ว่าทำไม นโยบายประชานิยมจากคนคิดคนเดียวกัน ทำไมผลออกมาไม่เหมือนกัน
เพราะจอมทัพเป็นคนละคน
ดร.สมคิด คือกุนซือ เป็นกุนซือที่เป็นสุดยอดนักยุทธศาสตร์ที่หาตัวจับยากที่สุดในเมืองไทยในรอบศตวรรษเลยทีเดียว
ถ้าทักษิณเดินอยู่ในกรอบ เหมือนกับตอนที่ยังไม่มีอำนาจทางการเมือง เหมือนกับที่ยังอยู่ในกลุ่มเพื่อนเก่า ที่นั่งคุยปรึกษากันว่า จะนำพาให้ไทยรุ่งเรืองได้อย่างไร
ป่านนี้ทั้งทักษิณ ทั้งประเทศไทย และทั้งทีมงาน คงก้าวไกล และรุ่งเรือง เป็นที่นับหน้าถือตาไปโดยพร้อมเพรียงกันแล้วทั้งคณะ
แต่เพราะเพื่อนใหม่ ที่มาพร้อมกับอำนาจใหม่ที่หอมหวน จนลืมอุดมการณ์แต่เดิม
ทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปจนยากจะจบลงได้ง่ายๆ แบบนี้
ที่มา: อ่านมานานแต่จำแหล่งที่มาไม่ได้เสียแล้วต้องขออภัย
โปรดติดตามตอนต่อไป