นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี เผยผลการสำรวจ พบประชาชน ปลายด้ามขวาน ส่วนใหญ่รับทราบและพร้อมให้ความร่วมมือ มาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โควิด-19 ปิดตลาด ช่วง รอมฎอน และ ไม่คัดค้านกรณี รัฐบาลขอขยายเวลาใช้มาตรการออกไปอีก 1 เดือน
วันที่ 21 เม.ย.63 ที่ ห้องประชุม วิจารณ์ศุภกิจ อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)วิทยาเขตปัตตานี ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ หัวหน้าคณะทำงานวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมด้วยคณะ ได้จัดแถลงข่าว ด้วยการไลฟ์สดทางเฟสบุก ถึงผลการสำรวจผลกระทบจากมาตรการลดการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มประชากรจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และ สตูล จากแบบสอบถาม 4,280 ชุด ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม 3,620 คน ศาสนาพุทธ 657 คน และศาสนาคริสต์ 3 คน
ผลการสำรวจพบว่ าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 90 รับทราบมาตรการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เดินทางออกจากเคหะสถานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ห้ามเดินทางเข้า ออกข้ามจังหวัด และ ประเทศ ห้ามรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ, ยกเลิกวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์, งดการละหมาดในมัสยิด,
มาตรการ ปิดสถานศึกษาจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563, ปิดสถานบริการ เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด สถานบันเทิง, การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ, ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้น แผนกซุปเปอร์มาเก็ต, ห้ามซื้อ ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ห้ามขายอาหารในร้าน, ห้ามออกจากบริเวณบ้านในช่วงเวลา 20.00 – 05.00 น., ห้ามผู้สูงอายุและเด็กออกจากบ้าน และปิดการบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท โดยร้อยละ 80-99 เห็นด้วยกับมาตรการต่างๆข้างต้น
สำหรับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถามไ ด้รับผลกระทบมากที่สุด คือห้ามเดินทางเข้า ออก จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 49 ,ห้ามขายอาหารในร้าน ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 48, งดการละหมาดในมัสยิด ได้รับผลกระทบร้อยละ 40
ส่วนมาตรการอื่นๆส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ลงไป ได้แก่ ปิดสถานศึกษาจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ,การปิดหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อ, ปิดการบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท, ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้น แผนกซุปเปอร์มาเก็ต, ห้ามรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ, ห้ามออกจากบริเวณบ้านในช่วงเวลา 20.00 – 05.00 น., ปิดสถานบริการ เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด สถานบันเทิง, ห้ามผู้สูงอายุและเด็กออกจากบ้าน, ผู้ที่เดินทางออกจากเคหะสถานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย, ห้ามเดินทาง เข้า – ออก ประเทศ, ยกเลิกวันหยุด ช่วงเทศกาลสงกรานต์ และห้ามซื้อ – ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบตั้งแต่ ร้อยละ 39 ลดหลั่นลงมาถึงร้อยละ 22 ตามลำดับ
ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อมาตรการต่างๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอน ได้แก่ จำเป็นต้องมีมาตรการการควบคุมโรคติดต่อ มีผู้เห็นด้วยร้อยละ 94 การงดเว้นกิจกรรมการ ละศีลอดที่มัสยิด เห็นด้วย ร้อยละ 76, การงดเว้นการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดเห็นด้วยร้อยละ 72, มาตรการการงดเว้นการอิอติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เห็นด้วยร้อยละ 71, การงดเว้นการละหมาดตะรอเวียะฮในเดือนรอมฎอน เห็นด้วยร้อยละ 68, การงดเว้นการร่วมละหมาดห้าเวลาที่มัสยิด เห็นด้วยร้อยละ 66, และการปิดตลาดรอมฎอน เห็นด้วยร้อยละ 65 ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามถึงผลของโรคระบาดต่อสุขภาพจิต ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 83-91 ตอบว่ามีความกังวลใจ เนื่องจากการรับรู้ข่าวสารมากเกินไป ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า ผู้มีรายได้น้อยมีความรู้สึกกังวลใจ หรือ มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตน้อยกว่าผู้มีรายได้มาก สำหรับมาตรการที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ตอบว่ารัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ และประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ80 ตอบว่าเห็นสมควรใช้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ออกไปอีก1 เดือน และควรมีมาตรการการในการเปิดตลาดในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม