“งานวิจัยใหม่บอกว่า เราต้องอยู่ห่างกัน เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 2 ปีครับ” … และข้อเสนอของผม ในการให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่างานวิจัยใหม่ล่าสุด ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระดับโลก Science ที่ทำแบบจำลองประเมินการระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า “มันจะกลับมาระบาดใหม่หรือไม่ในช่วงนี้จนถึงปี 2025 นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามนุษยชาติจะมีภูมิต้านทานต่อโรคหรือไม่ … การทำ Social distancing เป็นระยะทางสังคมนั้น อาจจะต้องยาวนานไปจนถึงปี 2022 (อีก 2-3 ปี) ถึงจะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผู้ป่วยมากจนเกินที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้” (ดูรายละเอียดงานวิจัยด้านล่าง)
ผลที่ออกมานี้ ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับที่ผมคิดไว้นะ คือเราไม่สามารถสู้จนชนะเชื้อโรคมันได้ อย่างที่หลายๆ คนพยายามจะพูดกัน แต่ต้องหาทางอยู่ร่วมกับมัน จนกว่ามันจะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลไปในที่สุด
วลีที่ว่า “ปิดประเทศ ให้เจ็บแล้วจบ” หรือ “การ์ดห้ามตก ต้องล็อคดาวน์ต่อไป” ก็ไม่น่าจะได้ผลจริง เพราะไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าจะจบเมื่อไหร่ ขนาดวัคซีนก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเสร็จเมื่อไหร่กัน เสร็จแล้วจะมีให้คนไทยเราใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า หรือต้องมาลุ้นกันอีก
แต่ในมุมกลับข้าง สิ่งที่เห็นแล้วจริงๆ ก็คือสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เสื่อมสลายลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่ตกงาน หรือข้าราชการ มีคนที่มีเงินเก็บมากๆ ก็คงยังไม่รู้สึกอะไร … แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ แรงงานรายวัน หรือคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว-เดินทาง-บริการต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสแน่ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน
แล้วผลกระทบจะย้อนกลับมาที่สังคมโดยรวมอีกครั้ง เมื่อคนยากจนมากขึ้น จะทำให้อาชญากรรมสูงขึ้น ลักเล็กขโมยน้อย จนไปถึงจี้ชิงปล้น ฯลฯ
ผมว่าเราควรจะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ได้แล้วนะ ต้องหาทางออกให้กับธุรกิจและอาชีพต่างๆ ได้เดินหน้าต่อไป ในสภาพที่การ์ดก็ยังไม่ตกด้วย เอาแค่คำว่า social distancing นี่แหละเป็นเกณฑ์สำคัญที่สุดในการขออนุญาตประกอบการต่อ
รัฐบาลควรจะให้สมาคมวิชาชีพต่างๆ หรือห้างร้านหน่วยงานบริษัท รวมถึงสถาบันการศึกษา เขียนแผนประกอบการที่สร้างกฎเกณฑ์ว่า องค์กรของตัวเองจะดำเนินการอย่างไรให้เกิด social distancing ขึ้นบ้าง มีมาตรการด้านสุขลักษณะอย่างไร แล้วอนุญาตเป็นรายๆ ไปถ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
อีกเรื่องที่น่าคิดคือ ช่วงอายุของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเราพบว่า วัยเด็กถึงหนุ่มสาวจนถึงวัยทำงาน มักจะไม่ได้มีอาการป่วยอะไรรุนแรงเท่ากับคนที่อยู่ในวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ
ดังนั้น ก็น่าจะพิจารณาให้คนกลุ่มหนุ่มสาวนี้ได้กลับเข้าสู่สังคมร่วมกันก่อน เมื่อรัฐบาลตัดสินใจแล้วว่ามีความพร้อมที่จะเลิกการล็อคดาวน์ จะได้ไม่ขาดกำลังสำคัญในการดำเนินเศรษฐกิจต่อไป (อันนี้มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของประเทศอังกฤษ เสนอไว้)
ขณะเดียวกัน การแยกผู้สูงอายุให้ออกห่างจากความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรค จากคนหนุ่มสาวนั้น จะต้องเน้นให้มากขึ้นด้วย เพราะว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะวิกฤตจนถึงเสียชีวิตได้
——–
งานวิจัยเรื่อง Projecting the transmission dynamics of SARS-CoV-2 through the postpandemic period ของ
Stephen M. Kissler และคณะ ในสารสาร Science ฉบับ 14 Apr 2020
เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะต้องเข้าใจอนาคตของการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) นี้ เราจึงเอาค่าประมาณต่างๆ ที่เคยศึกษาไว้ของเชื้อเบต้าโคโรน่าไวรัส (betacoronavirus) สายพันธุ์ OC43 และ HKU1 จากสหรัฐอเมริกา มาสร้างแบบจำลองการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2
เราคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2 ในหน้าหนาวนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้อีก หลังจากคลื่นระลอกแรดของการแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรุนแรงนี้ผ่านไปแล้ว
ส่วนประเด็นที่ว่า ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยขั้นฉุกเฉินนั้นจะเกินระดับที่รับมือไหวหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการทำ social distancing เป็นปัจจัยหลักในการควบคุมโรค
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว การทำ social distancing นั้นอาจจำเป็นที่จะต้องดำเนินต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 2022 .. ในขณะที่การควบคุมโรคด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และการขยายศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต จะช่วยเสริมความสำเร็จของการทำระยะห่างทางสังคม และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยา เพื่อดูว่าคนเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ SARS-CoV-2 มากน้อยแค่ไหน และเป็นระยะเวลานานแค่ไหน
และถึงแม้ว่าจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคที่พบจะหมดไปแล้ว แต่ก็ต้องยังคงค้นหาผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ต่อไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคยังสามารถกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2024.
- ข้อมูลจาก https://science.sciencemag.org/content/early/2020/04/14/science.abb5793?utm_campaign=SciMag&utm_source=JHubbard&utm_medium=Facebook