คำว่าปาตานีในอดีตและปัจจุบันมีที่มาอย่างไร?
หน่วยความมั่นคง ได้เผยแพร่บทความ เกี่ยวกับการใช้คำ ปาตานี ในการเคลื่อนไหว โดยให้รายละเอียดว่า การเผยแพร่ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เจ้าเมืองพญาอินทิรายังดื้อรันไม่ยอมเข้ารับอิสลามและไม่มีใครที่กล้าเข้าไป ในวังเพื่อเผยแพร่ศาสนาให้กับเจ้าเมืองพญาอินทิรา การเผยแพร่ศาสนามีความเข้มข้นมากตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรลังกาสุกะมา จนถึงช่วงต้นของการสร้างเมืองปัตตานี
แต่ประชาชนชาวโกตามาหาลิไกยส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาพุทธผสมกับพราหมณ์ – ฮินดู จนมาถึงสมัยของเจ้าเมืองพญาอินทิรา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาจากศาสนาพุทธเป็นอิสลาม การเปลี่ยนศาสนาของเจ้าเมืองพญาอินทิรามีตำนานเล่ากันว่า เจ้าเมืองพญาอินทิราได้ทรงเกิดพระโรคบางอย่างกำเริบขึ้นบนร่างกายของ พระองค์ แพทย์หลวงในราชสำนักรักษาเท่าไรก็ไม่มีทีท่าว่าจะหายขาด พระองค์จึงให้เสนาบดีป่าวประกาศไปทั่วเมืองว่า หากหมอผู้ใดสามารถรักษาพระโรคให้หายขาดได้จะทรงพระราชทานรางวัลให้อย่างงด งาม มีแขกปาชายผู้หนึ่งเดินทางมาจากเกาะสุมาตราชื่อ”เซ็กซาฟียิดติน” อาสาเข้าทำการรักษาพระโรคของเจ้าเมืองพญาอินทิรา โดยขอคำมั่นสัญญาจากพระองค์ว่าเมื่อตนสามารถรักษาอาการป่วยหายแล้ว พระองค์ต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแทนศาสนาพุทธซึ่งเจ้าเมืองพญาอินทิรา ก็ทรงรับปากแต่โดยดี เซ็กซาฟียิดตินได้ทำการรักษาพระโรคของเจ้าเมืองพญาอินทิราจนหายขาด แต่พระองค์กลับคำไม่รักษาสัญญา ต่อมาไม่นานโรคร้ายจึงกำเริบขึ้นมาอีกครั้งร้อนถึงหมอแขกชื่อดังต้องกลับมา รักษาให้หายอีก แต่คราวนี้เจ้าเมืองพญาอินทิราก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเสียที เจ้าเมืองพญาอินทิราได้ผิดคำสัญญาถึง ๓ ครั้ง หมอแขกก็ตามรักษาอยู่ทุกครั้ง
จนมาถึงครั้งที่ ๔ เจ้าเมืองพญาอินทิราจึงยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามสัญญา และโรคร้ายก็หายไปไม่มากล้ำกรายอีกเลย จึงแต่งตั้งเซ็กซาฟียิดตินขึ้นเป็น ดาโต๊ะ สารีรายา ฟาเกะฮ์ (คือผู้รู้ยอดเยี่ยมของ ศาสนาอิสลาม) เป็นเหตุให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ขุนนาง และชาวเมืองเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกันหมด พลเมืองชาวปาตานีเมื่อเห็นกษัตริย์ของตนเปลี่ยนศาสนาจึงพากันเข้ารีตนับถือ ศาสนาอิสลามกันทั้งหมด ต่อมาจึงได้ทำลายพระพุทธรูป เทวรูป โบราณสถานทางพุทธศาสนาพุทธในเมืองลังกาสุกะจนเสียหายหมดสิ้น จากนั้นชื่อเมืองลังกาสุกะก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นับตั้งแต่บัดนั้น
การเข้ามาของเซ็กซาฟียิดตินในปาตานี เพื่อรักษาอาการป่วยของพญาอินทิราจนพระองค์เข้ามารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว เปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่านอิสมาแอลชาห์ซิลลุลลอฮ์ฟิลอาลาม ได้มีการขอพรให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปาตานีดารุสาลาม การเรียกชื่อเมืองปาตานีเป็นปาตานีดารุสาลาม ได้มีการสืบทอดการปกครองอาณาจักรปาตานีดารุสสาลามจนสิ้นสุดราชวงศ์ศรีมหาวังสา ซึ่งนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ราวประมาณ 500 ปี มาแล้ว และเซ็กซาฟียิดตินเองก็ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในการเข้ามามีบทบาทของ
การเปลี่ยนแปลงเมืองปาตานีให้ดียิ่งขึ้น เปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาให้กระจ่างยิ่งขึ้นเหมือนในปัจจุบัน
กระทั่ง พ.ศ.2329 (ข้อมูลปีน่าจะผิด-mtoday) ปาตานีถูกแบ่งแยกออกเป็น 7 หัวเมือง ยุคอาณาจักรสยาม กลายเป็น เมืองปัตตานี หนองจิก รามันห์ ยะลา สายบุรี ยะหริ่ง และระแงะ คำว่า”ปาตานี”เริ่มถูกเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ปัตตานี” และต่อมา หลังถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามเต็มรูปแบบ จึงกลายเป็น “จังหวัดปัตตานี”
แล้ว วาทกรรม ปาตานี มาจากไหนในปัจจุบัน มาจากการสิ่งที่ ผกร. ภาคประชาสังคม และกลุ่มนักศึกษาในนาม“ปาตานี”ทั้งหลายได้พูดและแสดงออกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นวาทกรรม เชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่อ้างประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความรู้สึก“ร่วม”ของความเป็น“ปาตานี” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนปาตานีจะดีหรือเลวเขาก็เลือกคนปาตานี) ยกตัวอย่างเช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) , กลุ่มมาราปาตานี , สำนักสื่อ Wartani , รวมถึง สื่อออนไลน์ของกลุ่มแนวร่วม และล่าสุด
การจัดเสวนาของกลุ่มประชาสังคมและกลุ่มนักศึกษา (PerMAS) ในหัวข้อ เรื่อง “มนุษยธรรมกับปาตานีที่ยังมีชีวิตอยู่” เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา และยังมีการใช้คำว่า “ปาตานี” เสมอ เมื่อมีการจัดเวทีของกลุ่มพวกนี้ยังรวมถึงนักวิชาการและอาจารย์บางท่านในสถาบันการศึกษา จึงทำให้มั่นใจว่า“ปาตานี”เป็นวาทกรรมที่เจตนาขับเคลื่อนเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในความเป็นชาติ รองรับโอกาสการเป็นเอกราชผ่านการกำหนดใจตนเอง และไม่ได้หมายรวมถึงคนเชื้อสายอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้นในฐานะคนนอก โลกปาตานีจึงอันคับแคบเกินกว่าที่คนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีนหลายๆ คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยอมรับหรือแทรกตัวเข้าไปได้.