คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในประเทศมาเลเซีย ให้เร่งนำคนไทยกลับบ้าน ชี้กำลังอดอยาก และขอให้เลิกใช้ ‘fit to travel’ ระบุ เพิ่มภาระ
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในประเทศมาเลเซีย มีรายละเอียด ระบุว่า
ตามที่ คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยในมาเลเซียจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และมาตรการควบคุมการเดินทาง (Movement Control Order – MCO) หรือการล็อคดาวน์ (lockdown) ของมาเลเซีย คฉ.จม. มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย โดยเฉพาะแรงงานไทย ซึ่งเป็นผู้มีฐานะยากจนข้นแค้น ดังนี้
1) ข้อเสนอต่อการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ
จากการ lockdown ของมาเลเซียที่มีแนวโน้มจะขยายต่อไปอีกหลายเดือน และแนวโน้มที่มาเลเซียจะจัดระบบแรงงานต่างชาติใหม่หลังโควิด 19 ทำให้แรงงานไทยซึ่งต้องหยุดงาน ขาดเงิน และเริ่มเข้าสู่ภาวะอดอยาก เกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นใจในอนาคต จึงต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ การเดินทางเข้าประเทศของคนไทยเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังที่ว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” (มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ) และรัฐจะต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพนี้ของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ (มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ) คฉ.จม. จึงขอเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่คนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับไทย ดังนี้
1.1) ยกเลิกการใช้ใบรับรองแพทย์ (fit to travel)
ที่ผ่านมาข้อกำหนดเรื่องใบรับรองแพทย์ที่ระบุข้อความ fit to travel ซึ่งต้องออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ได้สร้างภาระอย่างมากให้แก่แรงงานไทยที่ต้องการกลับบ้าน เพราะแรงงานจำนวนมากเข้าไม่ถึงสถานพยาบาล ไม่เงินจ่ายค่าออกใบรับรอง สถานพยาบาลที่สามารถออกใบรับรองแพทย์ได้มีจำกัด และมีไม่ครบทุกรัฐ อีกทั้งในใบรับรองแพทย์ที่แม้จะระบุคำว่า fit to travel ก็ไม่สามารถบ่งชี้ภาวะการติดโรคโควิด 19 ได้แต่อย่างใด
1.2) ขยายการกำหนดเวลาการเดินทางมาถึงด่านชายแดน
ข้อกำหนดที่ระบุให้ผู้ผ่านแดนต้องเดินทางมาถึงที่ด่านชายแดนก่อนเวลา 12.00 น. นั้น หากเป็นผู้ที่อยู่ในรัฐที่อยู่ห่างไกลจากด่านชายแดนนั้นแทบจะทำตามไม่ได้เลย นอกจากระยะทางที่ห่างไกลแล้ว การเดินทางข้ามเมือง/รัฐในช่วง MCO ยังเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะมีการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่มากมายหลายด่าน อีกทั้งการเดินทางกลางคืนหรือแวะพักระหว่างก็อาจผิดคำสั่ง MCO ได้
1.3) อำนวยความสะดวกการเดินทางมายังด่านชายแดน
รัฐบาลโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลไทยในมาเลเซีย ควรต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังด่านชายถาวรแดนแดนโดยการเช่าเหมารถบัสในประเทศมาเลเซียบริการมาส่งผู้ข้ามแดนยังด่านต่างๆ ทุกวัน เนื่องตอนนี้รถประทางหยุดวิ่ง ต้องใช้การจ้างเหมาที่มีราคาแพง นายหน้าผู้จัดการเดินทางมักเก็บค่าเดินทางแพงเกินจริง ที่สำคัญแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการเดินทางด้วยตนเองอีกแล้ว
2) ข้อเสนอในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านเสบียงอาหารแก่แรงงานไทย
รัฐบาลไทยต้องเร่งนำความช่วยเหลือเข้าไปในมาเลเซียอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ กลไกสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุล ที่ทำอยู่นั้น ไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยได้อย่างทั่วถึง การช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือระดับประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยต้องขอความช่วยเหลือโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการขอส่งเสบียงอาหารทางเครื่องบินมาให้แก่แรงงานไทย รวมทั้งขอให้ทางการมาเลเซียช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไทยโดยใช้กลไกแนวหน้ามาเลเซียที่คุมพื้นที่ทั้งหมดอยู่ ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และ อาสาสมัคร ทั้งนี้ ระดับปฏิบัติการของฝ่ายไทยต้องมีรายชื่อและจำนวนผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนและประสานงานกับทางมาเลเซียอย่างเป็นระบบและใกล้ชิด
3) ข้อเสนอในการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงไทย
รัฐบาลไทยต้องจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้เดินทางกลับให้ได้พร้อม และอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากด่านฝั่งไทยไปยังสถานที่กักตัว การไม่สามารถจัดหาสถานที่กักตัวรองรับผู้เดินทางกลับได้เพียงพอถือว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ทั้งนี้ รัฐสามารถเพิ่มสถานที่กักตัวโดยใช้โรงแรมต่างๆ ในอำเภอสุไหงโก-ลกและบริเวณด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่สำคัญ รัฐควรจ่ายเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่กักตัวด้วย อันจะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาได้ในทางหนึ่ง