เปิด 7 จุดแข็งไทย ใกล้ชนะโควิด-19 แม้แต่ญี่ปุ่นยังชม ใช้เป็นโมเดล

หมอวรงค์ ชี้ไทยมีจุดแข็ง 7 ข้อ ทั้งการบริหารจัดการ การมีทีมแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ การร่วมมือกันของอาสาสมัครและภาคประชาชนที่ตื่นตัว มีวินัยปฏิิบัติอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า วันนี้ 13 เมษายน ผู้ติดเชื้อรายใหม่เราเพิ่ม 28 ราย ใครจะไปคิดว่า การแก้ปัญหาโควิด-19ของประเทศไทย มาถึงจุดที่หลายๆ ชาติชื่นชม แม้แต่ล่าสุดสื่อญี่ปุ่นอย่างนิเคอิ ยังชื่นชมความสำเร็จของไทย ไม่นับรวมชาติตะวันตกที่ชื่นชมมาตลอด

จุดเปลี่ยนสำคัญของไทย คือการมีผลบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 26 มีนาคม และ ประกาศเคอร์ฟิว วันที่ 3 เมษายน ถ้านับระยะฟักตัวไม่เกิน 14 วัน มาเป็นฐาน เท่ากับว่า หลังวันที่ 10 เมษายน สถานการณ์การติดเชื้อโควิดรายใหม่ต้องค่อยๆ ลดลง และก็เป็นจริง พอจะประเมินสาเหตุได้คือ

1.รัฐบาลสามารถใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลนักสาธารณสุข ตลอดจน อสม. มาเป็นทัพหน้า โดยเอาฝ่ายการเมืองมาเป็นทัพหลัง การต่อสู้ครั้งนี้จึงใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการแพทย์เป็นหลัก ทำให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน

2.ต้องถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างจริงจัง ไม่ต้องนั่งรอคำสั่งส่วนกลาง จึงเกิดความตื่นตัวในแต่ละจังหวัด มีการแข่งขันผลงาน เช่น การประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การล็อคดาวน์จังหวัด ที่แต่ละจังหวัดประกาศกันเอง

3.การเลือกใช้คุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน มาเป็นโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19. ) หรือ ศบค เป็นการใช้คนที่ถูกที่ถูกเวลา เนื่องจากต้องใช้ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ ที่อธิบายเรื่องแพทย์ให้ประชาชนเข้าใจ ประกอบกับบุคคลิกท่าทีเป็นที่ยอมรับของประชาชน

4.เกิดความตื่นตัวอย่างคาดไม่ถึงในกลุ่มประชาชน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งระเบียบวินัย การใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงระยะห่าง อยู่บ้าน และการล้างมือ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ และการมีส่วนร่วมเฝ้ารอแต่ละวันที่คุณหมอทวีศิลป์แถลง ทำให้ประชาชนมีอารมณ์ร่วมเฝ้าติดตาม และรู้สึกถึงชัยชนะร่วมกัน

5.วัฒนธรรม ประเพณี ความมีน้ำใจเอือเฟื้อเผื่อแผ่ ของคนไทยโดยพื้นฐาน ที่มีน้ำใจช่วยเหลือกัน ที่หายากในชาติอื่นโดยเฉพาะชาติตะวันตก จึงทำให้ประเทศไทยมาถึงวันนี้

6.สภาพภูมิอากาศร้อนของไทย ในช่วงมีนาคมและเมษายน ไม่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่เหมือนฤดูฝน จึงมีส่วนช่วยมาก และคาดว่ารัฐบาลต้องปิดศึกครั้งนี้ภายในเดือนเมษายนนี้

7.ความเด็ดขาดของท่านายกรัฐมนตรี ต่อกระแสข่าวเรื่องทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้น และท่านดึงอำนาจเข้ามาจัดการเองจนเรื่องปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขทันท่วงที

นี่คือ เหตุผลโดยรวมที่ทำให้สงครามโควิดภาคสาธารณสุขของไทย เห็นชัยชนะในอีกไม่นาน ถ้าหากเราไม่ประมาท ก็คงเหลือแต่สงครามโควิดภาคเศรษฐกิจ ที่ต้องใช้คนดีมีฝีมือ อีกชุดหนึ่งมาแกไข คงต้องติดตามกันอีกระยะ แต่ที่แน่แน่ตอนนี้เราได้เห็นฝ่ายประชาธิปตาย ดิ้นพล่านกันใหญ่ในช่วงนี้

ขณะที่เปลวสีเงิน ได้เขียนบทความลงในไทยโพสต์ ระบุว่า วันนี้อาจพูดได้ว่า “โควิด-๑๙” ในประเทศอยู่ในช่วงขาลงจริงๆ
แต่คำเตือนเรื่องการ์ดอย่าตก ยังละเลยไม่ได้ เพราะไวรัสตัวนี้คือนักฉวยโอกาส
เผลอเมื่อไหร่….เจอแน่
ฉะนั้นยังต้องยกการ์ดให้สูงไว้ รอจนกว่าสามารถต่อยปลายคางโควิด-๑๙ ลงไปนอนกางกับพื้น ให้กรรมการนับสิบ สั่งยุติการชกเสียก่อน แล้วค่อยเอาการ์ดลง
ความสำเร็จในเบื้องต้นนี้มาจากไหน?
ในขณะที่คนบางกลุ่ม ปากบอกว่ารักประชาธิปไตย รักสิทธิเสรีภาพ ขยะแขยงรัฐธรรมนูญมากกว่าใคร เอาแต่นั่งจิ้มคีย์บอร์ดจิกด่า ว่ารัฐบาลเผด็จการ ไม่มีทางสู้โควิดได้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
แสดงท่าทีเหมือนเด็กมีปมด้อย
ปากด่าไป มือก็จิ้มไป ว่าไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น!
อีกฟากหนึ่งของคนที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน เขาไม่ได้มานั่งบ่น หรือว่าให้ร้ายใคร
บอกเลยว่าช่วงนี้นอกจากเป็นแฟนคลับคุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แล้ว ในวิกฤตินี้ยังเพลิดเพลินกับการกระจายอำนาจของกระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.)
พูดตามตรงไม่เคยเห็นยุคไหนที่มีความรู้สึกว่า แต่ละจังหวัดทำงานของตนเองอย่างแข็งขัน และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเช่นนี้มาก่อน
ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานเบอะเลอะเทอะ ก็ไม่เห็นบรรยากาศผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งแก้ปัญหาในจังหวัดของตนเอง เหมือนแม่ทัพขี่ม้านำหน้าออกศึก
แต่ละจังหวัดตัดสินใจเฉียบขาดฉับพลัน หนักบ้าง เบาบ้าง ตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัดที่ไม่เหมือนกัน
แรกๆ ก็ถูกชาวบ้านบางกลุ่มด่าอยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายถึงบางอ้อ เหตุต้องไล่ปิดโน่นนี่นั่น เพราะต้องสกัดการระบาด
หลังๆ มานี้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เช่น ที่ขอนแก่น มี ๓๐ หมู่บ้านขอล็อกดาวน์ตัวเอง
ยังมีแบบนี้อีกหลายจังหวัด…นับไม่ถ้วน
นี่คือคนไทยยุคโควิด-๑๙
เป็นความจริงที่ว่า…คนไทยชื่นชมชาวญี่ปุ่นว่ามีระเบียบวินัย ฉะนั้นการจัดการกับโควิด-๑๙ ของญี่ปุ่น น่าจะมีประสิทธิภาพกว่าไทยแน่ๆ
แต่….วันนี้หลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว
สำนักข่าวนิเคอิรายงานข่าวและภาพเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ถึงมาตรการ ‘โซเชียล ดิสแทนซิง’ ในไทย
นิเคอิบอกว่า ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าคนไทยเป็นชนชาติที่ไม่เคร่งระเบียบวินัย มีความสนุกสนานร่าเริง และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา
แต่วันนี้ คนไทยเว้นระยะห่างทางสังคม มีระยะห่างทางกายภาพ
สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอ้างรายงานของกระทรวงสาธารณสุขไทยว่า คนไทย ๘๐% ให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตาม ‘โซเชียล ดิสแทนซิง’ อย่างเคร่งครัด
ทำให้กราฟการติดเชื้อในไทยดิ่งลง
พร้อมทั้งสรุปว่า ญี่ปุ่นต้องเอาอย่างไทย ด้วยการกำหนดเป้าหมาย ลดการติดต่อทางสังคมของประชาชนลงให้ได้ ๘๐%
ตัวเลขผู้ติดเชื่อเดิมทีไทยทำท่าจะแซงญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังจะแตะหลัก ๗ พัน
ส่วนไทย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และภาครัฐ ช่วยกันฉุด ช่วยกันดึง จนทิ่มหัวลง วานนี้ (๑๒ เมษายน) ติดเชื้อ ๓๓ คน
สิงคโปร์ย่องมาเงียบๆ จี้ตูดไทยแล้ว และมีแนวโน้มจะแซงในอีกไม่กี่วัน
หากคนไทยไม่ประเมินศักยภาพตนเองต่ำเกินไป ในโลกนี้เราสู้ได้หมดทุกชาติ ทุกเรื่อง
ฉะนั้นช่วงนี้การ์ดอย่าเพิ่งตก เพราะเรากำลังเป็นต้นแบบให้หลายประเทศทั่วโลกที่ล้วนมีปัญหาหนักขึ้น ได้หันมามอง
….และทำตาม.