คนใกล้ชิดที่เคยทำงานร่วมกับ ‘นายช่างเปาะยา’ ที่เสียชีวิตบนรถไฟระหว่างเดินทางจากกรุงเทพฯกลับสุไหงโกลก ได้สะท้อนมุมมองในชีวิตของชายผู้นี้ อีกด้านหนึ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ เขาจบวิศวจากอเมริกา ทำงานอิตาเลี่ยนไทย ก่อนทิ้งการทำงานมาใช้ชีวิตดะวะห์ กับข้อความทิ้งท้าย ผิดที่ตั้งแต่เกิดที่เป็นแขก
Abu Gibrel Jacob ได้โพสต์เฟสบุ๊ก ระบุว่า #นายช่างเปาะยาที่ผมรู้จัก เมื่อวานทุกคนคงได้อ่านข่าวจากหลายๆสำนัก ที่ลงข่าวของ”ลุง” คนหนึ่งที่เสียชีวิตบนรถไฟที่ทับสะแกขณะเดินทางกลับบ้านที่สุไหงโกลก ผมอาจจะเขียนยาวหน่อยและขอให้ทนอ่านจนจบเพราะจะได้เข้าใจระบบนิเวศทางสังคมของสามจังหวัดด้วย ตอนแรกว่าจะไม่เขียนเพราะถือเป็นเรื่องไพรเวซี่ของผู้ที่จากไปแล้ว แต่พอดูคอมเม้นท์ในหลายๆที่ ทำให้อยากเขียนขึ้นมา บุรุษผู้นี้ชื่อตามบัตรคือนายอนันต์ แต่ในหมู่เพื่อนสนิทจะเรียกเปาะยา (เปาะ+ซาการียา) เป็นคนสุไหงโกลกอายุรุ่นเดียวกับผม สมัยเด็กๆไม่ได้สนิทกัน แค่ทักทายกันธรรมดาเพราะเคยเรียนอัลกุรอ่านที่เดียวกันแต่ในระดับ ร.ร ประถมเรียนคนละโรง
คนสุไหงโกลกที่เกิดปี 05-06 ทั้งเจ้กจีนแขกสีแย จะรู้จักเขาดีในเรื่องความฉลาด เขาจะสอบได้อันดับต้นๆ ยังไม่ทันจบประถม หนุ่มเปาะยาข้ามฝั่งไปเรียนอีกประเทศ ( อันนี้เป็นความสามารถพิเศษของคนชายแดนที่ข้ามฝั่งไปเรียนได้ คนที่อื่นเลียนแบบไม่ได้) ทำให้เราห่างเหินและขาดการติดต่อกันตั้งแต่นั้นมา และเขาจบประถมด้วยคะแนนข้อสอบกลางแบบดีเยี่ยม จนได้รับคัดลือกให้เข้าเรียนมัธยมmrsm pengkelan chepa เป็นร.ร ประจำชั้นเยี่ยม เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งก็คือ ดาโต้ะสรี มุคริส มาฮาเดร์ มุขมนตรีรัฐกือดาห์(เคดะห์) สุดท้ายเปาะยาไปจบวิศวกรรมเครื่องกลที่สหรัฐอเมริกา ผมมาเจอกับเปาะยาอีกครั้งเมื่อปึค.ศ1991 ในไซต์งานซ่อมทางสายจือลี – กือริก คือถนนที่ตัดผ่านยอดเขาตีตีวังษา( สันกาลาคีรี) ถนนที่เต็มไปด้วยโค้งปราบเซียนและยังมีช้างป่าเดินเพ่นพ่านตลอดเวลา
เปาะยามาเป็นวิศวกรเครื่องจักรกล แต่ที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือเขาต้องใช้ไม้พยุงใต้รักแร้ทั้งสองข้างในการเดินเหิน ผมเพิ่งรู้ก็คราวนี้แหละว่าเขาประสพอุบัติเหตรถจักรยานยนต์ล้มจนขาหักหัวเข่าเสีย ทั้งๆที่ใช้ไม้เท้าไม้พยุงนี่แหละ นายช่างเปาะยาก็ยังสามารถที่จะปีนขึ้นไปตรวจถังไซโลปูนซีเมนต์และไซโลยางมะตอยได้ด้วยตนเอง ผมได้ร่วมงานกับนายช่างเปาะยาอีกสองไซต์งานในงานก่อสร้างถนนสายอีโปห์- คาเมรอนไฮแลนด์ ตอนนั้นตำแหน่งผมเริ่มใหญ่ขึ้นก็เลยมีโอกาศร่วมประชุมระดับบริหารไซต์งาน ก็เลยได้รับรู้ถึงระดับความสามารถในภาษา อังกฤษของนายช่างเปาะยาแบบแจ่มแจ้ง เวลาเขาพูด ถ้าเราปิดตาฟัง คงคิดว่ามีอเมริกันอัฟริกันมาร่วมประชุมด้วย
เราแยกกันอีกครั้งใน ปี2000 นายช่างเปาะยาลาออกจากบริษัทในเครือที่ผมทำงานด้วยเพื่อร่วมงานก่อสร้างเขื่อนทีอุตรประเทศในอินเดียที่อิตาเลี่ยนไทยได้งาน ถ้าจำไม่ผิดตามด้วยงานที่ลาวและจบด้วยงานเหมืองถ่านหินที่กาลิมันตันในอินโดนิเซีย( ถ่านหินน่าจะเตรียมมาป้อนที่เทพา) และแล้วนายช่างเปาะยาก็ลาออกจากงานทั้งหมดกลับมาอยู่บ้านและเริ่มทำงานดะวะห์ประมาณสักห้าปีที่แล้ว
เปาะยาเป็นคนโลว์โปรไฟล์ แม้จะจบนอกทำงานมีหน้ามีตา แต่เขาทำตัวสบายๆ นุ่งยีนส์เก่าๆใส่เสื้อยืดตราห่านและคาดผ้าขาวม้าที่เอวใว้ซับเหงื่อ ไม่สูบซิกาแร้ต แต่สูบยาเส้นห่อใบจากแบบคนงาน #นายช่าง น่าจะมีโรคเบาหวานมาตั้งแต่อายุ30ต้นๆเพราะดื่มชากาแฟไม่ใส่นํ้าตาลตลอด ถ้าไม่รู้จักเขาดี เปาะยาจะดูเป็นคนที่คบยาก แต่สำหรับผม เขาคือคนที่น่าคบคนหนึ่งและคบง่าย เปาะยาทำอาหารได้รสชาติมากโดยเฉพาะแกงเขียวหวาน
พอเปาะยากลับมาอยู่บ้าน เราก็เจอกันบ่อยขึ้น เจอกันครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณสักสองเดือนที่ผ่านมา แกแวะมาละหมาดมัฆริบที่มัสยิดที่ผมไปบ่อย เรายืนอยู่แถวหน้าสุด เปาะยาพิงไม้เท้าของเขาที่ตู้ข้างหน้า ขณะกำลังซูยุด ไม้เท้าเกิดล้มดังครืน ต้กใจกันทั้งแถว ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เจอกัน ในคลิปวิดิโอที่เอามาแชร์กันที่เปาะยาเดินเข้าช่องขายตั๋วรถไฟ บางคนถึงกับใส่ร้ายว่าเปาะยาจงใจใอหรือจามใส่คนที่ยืนอยู่ข้างหน้า ผมเป็นคนคิดบวก ลองเราเป็นเปาะยาบ้าง มือข้างหนึ่งจับกำถือไม้คํ้าซึ่งเป็นมือข้างที่ถนัด แล้วเวลาจะจามนี่ จะคิดได้ทันหรือ เราคนปกติบางทีก็ปล่อยแม่งออกมาแบบนั้นแหละ และอีกอย่างก็คือ มุมกล้องทำให้ดีเป็นร้ายได้ทันที อันนี้คนใช้กล้องเขาจะเข้าใจดี
ตอนที่ได้รับข่าวการเสียชีวิตของเขา ยังคิดว่าเขากลับมาจากโยที่อินโดนีเซีย เพิ่งรู้จากข่าวนี่แหละว่าเขาเดินทางมาจากปากีสถาน พร้อมกับเอกสาร fit to fly แต่ก็มีคอมเม้นท์เหยียดๆตามกันมา #เพราะท่านผิดมาตั้งเกิดแล้ว #ผิดที่เกิดมาเป็นแขก หลับให้สบายน่ะนายช่างเปาะยา อัลลอหรักท่าน จึงดึงท่านมาทำงานดะวะห์ในบั้นปลายชีวิต