กิจกรรมดะวะห์ของกลุ่มคะวะห์ตับลีก ที่สุราเวสี อินโดนีเชีย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม กำลังกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 อีกแหล่งหนึ่ง เหมือนกรณีการจัดกิจกรรมดะวะห์ตับลีก ที่มาเลเซีย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้มีมุสลิมกลุ่มดะวะห์จากหลายประเทศ ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเชีย บรูไน ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และนำมาแพร่ระบาดในวงกว้างของแต่ละประเทศ ในมาเลเซีย เป็นกลุ่มที่มีตัวเลขสูงสุดของการติดเชื้อ และ จังหวัดชายแดนใต้ของไทย มีผู้ติดเชื้อ มากกว่า 80 ราย
นายอุดร น้อยทับทิม อดีตรองผู้ว่าราชกาารจังหวัดยะลาฯ ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย (มัรกัสยะลา) เปิดเผยเมื่อ 29 มีนาคม ระบุว่า เมื่อ 26 มีนาคม กลุ่มดะวะห์ไทยที่เดินทางไปร่วมงานชุมนุมศาสนาที่ประเทศอินโดนีเชีย ประมาณ 30 คน แบ่งเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 26 คน มีข้อมูลยืนยันจากทางการแพทย์พบติดโควิด19 จำนวน 6 คน(WhiteChanal)
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุด วันที่ 31 มีนาคม มีการตรวจสอบคนไทยที่เดินทางกลับจากดะวะห์อินโดนีเชีย จำนวน 27 คน โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แจ้งถึงการคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ณ วันที่ 30 มีนาคม ช่วง 00.00-23.59 น. พบว่า มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 202 เที่ยวบิน และผู้โดยสารจำนวน 11,355 คน
โดยด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้คัดกรองผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 995 คน ไม่พบผู้โดยสารเข้าเกณฑ์เสี่ยง แต่ได้เก็บตัวอย่างผู้โดยสารคนไทยที่กลับจากการไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 27 คน ส่งตรวจ ล่าสุด ผลจากห้องปฏิบัติการออกมาแล้ว พบว่าเป็นบวก หรือมีเชื้อโควิด-19 จำนวน 19 คน จึงได้นำส่งต่อโรงพยาบาล ส่วนอีก 8 คน ผลตรวจไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ แต่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 14 วัน
สำหรับการคัดกรองผู้โดยสารขาออก รวมทั้งสิ้น 6,302 คน พบผู้โดยสารเข้าเกณฑ์เสี่ยง 1 คน จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาล
โดยคนกลุ่มนี้ เดินทางจาก อินโดนีเชียเมื่อ วันที่ 26 มีนาคม 2563 ขึ้นเครื่องบิน จากกรุงจากาตาร์ อินโดนีเซีย เวลา 13.30 น. ถึง สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ เวลา 16.30 น.
– เดินทางต่อรถไฟรถเร็ว กรุงเทพฯ -ยะลา ขบวนที่ 2
27 มีนาคม 2563
– ถึงสถานีรถไฟยะลา เวลาประมาณ 12.30 น.
– สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเดินทางเยี่ยมทำความเข้าใจมาตรการกักตัว
– พี่น้องดะวะห์ แยกกักตัวตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด19 ของประกาศของแต่ละจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
จนวันที่ 28 มีนาคม 2563 จึงมีการยืนยันการพบเชื้อ เป็นเหตุผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา สั่งปิดศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย(มัรกัสยะลา) เป็นการชั่วคราว และนับเป็นเรื่องที่ดีที่สมาคมจันทร์เสี้ยว ได้เข้าไปทพความเข้าใจและกักตัวบุคคลกลุ่มน้ำ ทำให้ไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างมากนัก แต่ยังมีความเสี่ยงในการเดินทางบนเครื่องบินและรถไฟ
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า กลุ่มดะวะห์จากประเทศไทยที่ติดเชื้อการเข้าร่วมชุมนุมทางศาสนาที่มาเลเซีย นำเชื้อไปแพร่ระบาดในทมิฬนาดู ในขณะที่กิจกรรมดะวะห์ ที่นิซามุดดีน กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังผู้เข้าร่วมชุมนุม ประมาณ 200 คน จากทมิฬนาดู เทลันกานา อันดราประเทศ อันดามัน และ จัมมู-แคชเมียร์ และมีกลุ่มดะวะห์จากประเทศไทย เดินทางเข้าร่วมด้วย ซึ่งในประกาศของศูนย์ดะวะห์ประเทศไทย (มัรกัสยะลา) เมื่อ 30 มีนาคม ระบุว่า กำลังประสานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)และกระทรวงการต่างประเทศ นำตัวคนไทยกลุ่มนี้ กลับประเทศ แต่ยังไม่มีรายงานว่า มีจำนวนเท่าใด และติดเชื้อหรือไม่
การดะวะห์ตับลีก ไม่ได้เป็นข้อบัญญัติตามหลักศาสนาออิสลาม แต่เป็นแนวปฏิบัติของมุสลิมในอินเดียในอดีต และกระจายมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการเผยแพร่ศาสนาโดยการเดินสายรวมกลุ่มตามสถานที่ต่างๆ
ดร.อณัส อมาตยกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลว่า จากการที่ในอดีตอินเดีย ที่ปกครองโดยราชวงศ์โมกุล ราชวงศ์มุสลิมที่ปกครองอินเดียมายาวนาน 800 ปี ไม่เคร่งครัดในปฏิบัติตนตามหลักอิสลาม ภาคประชาชนจึงรวมตัวกัน เดินสายเชิญชวนผู้คนทำความดี ตามหลักศาสนาอิสลาม
ในประเทศไทย กลุ่มดะวะห์ มาหลายสิบปี และได้ขยายใหญ่ไปทั่วประเทศ โดยมีการจัดตั้งศูนย์รวมที่เรียกมัรกัสหลายแห่ง ศูนย์ใหญ่อยู่ที่ยะลา ซึ่งในการจัดงานชุมนุมแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วม 4-5 หมื่นคน ในกรุงเทพฯ มีมัรกัสมีนบุรี เป็นต้น นับเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในสังคมมุสลิมไทยอีกกลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มนี้จะมีความเชื่อสุดโต่งในการปฏิบัติตนตามหลักอิสลาม อย่างกรณีการปฏิบัติตนในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาด ผู้นำกลุ่มบางคนพยายามบรรยายเชิญชวนให้ผู้ไปร่วมกลุ่มกันเพื่อทำลายเชื้อโรค ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดตามหลักอิสลาม ที่เน้นการป้องกันตน และการหนีห่างจากโรคร้าย และภัยพิบัติทั้งปวง