ศอ.บต. ถกเครียด! ทีมป้อง “โควิด-19” นราฯ พบ 6 ปัตตานี พุ่งพรวด12ราย

ศอ.บต. ประชุม คณะทำงาน โควิด-19 พบ สถานการณ์ในพื้นที่ จชต.เข้าข่ายน่าเป็นห่วง หลังผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคก็มีจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เป็นห่วง นศ.และแรงงานไทย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแห่กลับ เร่งตั้งกลไกระดับหมู่บ้านรับมือ
วันที่ 23 มี.ค.63 ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ EOC COVID-19 จังหวัดนราธิวาส รายงานข้อมูลสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ณ วันที่ 22 มี.ค.63 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 6 ราย และผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนเฝ้าระวัง 103 ราย ทำให้ทางจังหวัดเร่งปฏิบัติการเชิงรุก ลงพื้นที้สร้างความตระหนักแก่ชุมชน พร้อมแนะนำประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดย จำนวนผู้ป่วย 6 ราย ของนราธิวาส มีภูมิลำเนาอยู่ใน อำเภอสุไหงโกลก แว้ง รือเสาะ และสุคิริน
สำหรับข้อมูลสถานการณ์โรคในจังหวัดอื่นๆ จังหวัดปัตตานี มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อแล้ว 12 ราย รอผลตรวจ 8 ราย จังหวัดยะลา มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 4 ราย รอผลตรวจ 12 ราย จังหวัดสงขลา มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 4 ราย รอผลตรวจ 39 ราย และจังหวัดสตูล ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อนำวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 โดยมีผู้บริหาร ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมได้ประเมินวิเคราะห์และวางแผนการทำงานเชิงบูรณาการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการบริหารกลุ่มเสี่ยงที่ประกอบด้วย กลุ่มคนไทยที่เดินทางไปประกอบศาสนกิจร่วมการชุมนุมของผู้เผยแพร่ศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย ช่วงระหว่างวันที่ 27 ก.พ. ถึง 2 มี.ค.63
กลุ่มนักศึกษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ทั้ง 27 ประเทศ จำนวน 11,069 คน ,กลุ่มแรงงานไทย โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย ที่ทำงานร้านต้มยำกุ้ง และ กลุ่มอื่นๆ เช่น นักท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ล่าสุด ศอ.บต.ได้หารือ ประสานงานกับทางสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ ถึงข้อมูลเรื่องเที่ยวบินที่ยังเหลืออยู่ของแต่ละประเทศ ในกรณีที่กลุ่มนักศึกษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการเดินทางกลับประเทศ รวมถึงการจัดตั้งกลไกคณะทำงานเชิงรุกระดับหมู่บ้าน-ชุมชน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบัณฑิตอาสา ศอ.บต. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น เพื่อระดมสรรพกำลังบูรณาการสำรวจ ควบคุม ป้องกัน ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้จำกัดพื้นที่ หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมสาธารณะ
โดยเฉพาะกิจกรรมทางศาสนา และการให้ความรู้ คำแนะนำ แนวทางการปฏิบัติตัว และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่จำเป็นทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษามลายูต่อประชาชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้