กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.เผยผลทดสอบ วัสดุที่ควรนำมาผลิต “หน้ากากอนามัย” พบ “ฝ้ายมัสลิน” เหมาะสมใช้เป็น มากที่สุด และ สามารถทำความสะอาด ซักล้างและตากแห้งได้ทุกวัน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ได้ให้นโยบายการ ต้องมีประสิทธิภาพ หลังกาศึกษาค้นคว้า พบว่า หน้ากากผ้า เป็นทางเลือกเหมาะสมมากที่สุด สามารถทำเองได้ และได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ กรมวิทยาศาสตร์ ดำเนินการ ศึกษาคุณสมบัติชนิดของผ้าต่างๆ เพื่อเร่งผลิต หน้ากากอนามัย ให้เพียงพอกับความต้องการของบุคคลากรการแพทย์และประชาชน
จากการค้นคว้าพบว่า ผ้าที่ควรนำมาใช้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ 1.สามารถกันอนุภาคขนาดเล็ก 2.ป้องกันการซึมผ่าน ของละอองน้ำ 3.สามารถนำไปซักได้หลายครั้งรวมถึงหาได้ง่ายทั่วไป โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบ ผ้าหลายรูปแบบ เช่น ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้าสาลู ผ้านาโน และผ้ายืด ผลการทดสอบพบว่ามีผ้า 3 ชนิดคือ ผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน และ ผ้านาโน เมื่อนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้น และส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตรวจสอบเส้นใยสังเคราะห์ รวมทั้งศึกษาจำนวนครั้งของการซักล้างในผ้า 3 ชนิด พบว่า ผ้าฝ้ายดิบและผ้าฝ้ายมัสลิน สามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยคุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม และทดสอบประสิทธิภาพการต้านการซึมผ่านของละอองน้ำพบว่า ผ้าฝ้ายมัสลินและผ้าสาลูสามารถต้านการซึมผ่านได้ดีที่สุด
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า จากผลการทดสอบสรุปว่า ผ้าฝ้ายมัสลิน มีความเหมาะสม ในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้า 2 ชั้นมากกว่าผ้าชนิดอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีหลายด้าน คือ สามารถกันละอองน้ำและเส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น และที่สำคัญสามารถนำมาใช้งานได้หลายครั้ง