กอ.เชียงใหม่เร่งหน่วยมั่นคงจัดการกลุ่มสร้างความแตกแยก ระบุอาจลุกลามบานปลาย

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานความมั่นคง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 33 ผู้บังคับการกรมรบพิเศษ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภรค 5 และดำเนินการกับพฤติการณ์ภัยความมั่นคงอันร้ายแรงของกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานความมั่นคง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 33 ผู้บังคับการกรมรบพิเศษ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภรค 5 รายงานพฤติการณ์ภัยความมั่นคงอันร้ายแรงของกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

มีรายละเอียด ระบุว่า ตามที่มีกลุ่มองค์กรบางองค์กร ได้ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จใส่ร้ายปลุกปั่นเพื่อสร้างความเกลียดชังแก่ชาวมุสลิม ในอ.แม่อาย อ.สันป่าตอง และห้องประชุมพุทธสถาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวหาว่า เชียงใหม่มีมัสยิดนับ 100 แห่ง โดยผิดจากข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ตามทะเบีบนของกรมการปกครอง ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่มีการจดทะเบียนมัสยิดเพียง 14 แห่ง และไม่ได้จดทะเบียนอีก 3 แห่งรวม 17 แห่ง รวมทั้งมีการบิดเบือนใส่ร้ายกรณีพระราชบัญญัติบริหารกิจกิจการอิสลาม ซึ่งออกในพระปรมาภิโธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่กลับมีการนำพระราชบัญญัติไปดูถูกเหยียดหยามและบิดเบือนว่า เอื้อให้มุสลิมยึดครองประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้ใช้พื้นที่โรงเรียนบ้านห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ให้ข้อมูลใส่ร้ายมุสลิมแก่คณะครูและนักเรียน และมีการถ่ายทอดผ่านเครือข่ายโซเชียล

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ขอชี้แจงว่า ชาวมุสลิมในจ.เชียงใหม่และภาคเหนือ ประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์มีประวัติการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมายาวนานกว่า 100 ปี หลายมัสยิดรายล้อมด้วยวัดพุทธ บางมัสยิดใช้กำแพงร่วมกับวัด ตลอดประวัติศาสตร์ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้ง และมุสลิมได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินเสมอมา อาทิ การบริจาคที่ดินก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่ จำนวน 225 ไร่ ของขุนชวงเลียง ฤาเกียรติ มีมุสลิมที่เป็นหมอ เป็นครู กระจายสร้างประโยชน์ให้กับชาวเชียงใหม่จำนวนมาก ได้ร่วมกันพัฒนาประเทศไทยตลอดมา

คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภายใต้พ.ร.บ.บริหารกิจการอิสลาม มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นด้านศาสนาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด มีความเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการยุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนา เป็นภัยอันร้ายแรงในการสร้างความแตกแยกระหว่างผู้คนในสังคม หากหน่วยงานรัฐไม่ใส่ใจหรือไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งได้ อาจส่งผลกระทบรุนแรงบานปลายสู่ความขัดแย้งทางศาสนาในที่สุด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเลวร้ายที่สุดที่กลุ่มสุดโต่งทางศาสนาข้ามชาตินำเป็นเงื่อนไขการแทรกแซงสร้างความวุ่นวายในสังคมไทยได้

กอ.เชียงใหม่ ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อจัดการและยุติความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรดังกล่าว เพื่อไม่ให้ขยายความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยในอนาคต