เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศรวมพลัง 133 แห่ง เตรียมยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 133 โรง รวม 400 เมกะวัตต์ ล่าสุด 24 วิสาหกิจชุมชนภาคอีสานตอนบน ลงนาม MOU กับภาคเอกชนแล้ว ชูจุดเด่นการเป็นวิสาหกิจที่เข้มแข็ง แก้ปัญหาให้ชาวบ้านเป็นกุญแจ “แก้ความยากจน” ตอบโจทย์นโยบาย “น้าสน”
นายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ เตรียมเข้ายื่นประมูลโรงไฟฟ้าที่ชุมชนที่กระทรวงพลังงานจะเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ หลังจากที่ผ่านมาได้นัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม และลงนาม MOU ภาคเอกชนกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว อาทิ เพชรบูรณ์ พะเยา อุดรธานี ปัตตานี อุดรธานี นอกจากนี้ ยังเหลือพื้นที่ต่างๆ ที่ทางเครือข่ายฯ จะลงไปเตรียมไปลงนาม MOU เพื่อเตรียมพร้อมเพิ่มเติม ได้แก่ จ.นครราชสีมา จะลงพื้นที่วันที่ 29 ม.ค. จ.ขอนแก่น วันที่ 3 ก.พ. รวมถึงจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย และราชบุรี ซึ่งทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลวิสาหกิจชุมชนจากทั้งหมด 252 แห่ง ให้เหลือ 133 วิสาหกิจชุมชนยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้ตั้งเป้าหมายจะยื่นประมูลแข่งขันในประเภทกลุ่มทั่วไป จำนวน 133 โรง 133 วิสาหกิจชุมชน รวมการผลิตไฟฟ้าเกือบ 400 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติไว้ 700 เมกะวัตต์
ล่าสุดทางเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก “โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (Biogas)” ระหว่างคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนกับภาคเอกชน ที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โดยมีวิสาหกิจที่ลงนาม MOU ด้วย 22 แห่ง และเดินทางมาสังเกตการณ์อีก 2 แห่ง รวมทั้งหมด 24 แห่ง โดยเป็นวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม อุดรธานี บึงกาฬ หนองบัวลำภู ขอนแก่น และ เลย อาทิ กลุ่มสถาบันการเงินชุมชนยางอุ้ม กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ กลุ่มปศุสัตว์แปลงใหญ่โคเนื้อ กลุ่มเพาะเห็ดในโรงเรียน กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มแปรรูปเครื่องดื่มสมุนไพร กลุ่มเลี้ยงแพะและแกะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น
“ทางเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเรามีจุดเด่นตรงที่เป็นวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง มีการจับมือช่วยเหลือเป็นเครืองข่ายทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ รู้ปัญหาความต้องการของแต่ละชุมชน และสามารถนำเสนอแผนแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจนให้กับชุมชน จึงได้กำหนดเงื่อนไขให้คะแนน 60% กับผู้ที่เสนอแนวทางแก้ปัญหาความยากสนให้กับชุมชน และก็จะได้รับอนุมัติโรงไฟฟ้าชุมชนไป ไม่เพียงเท่านี้ เครือข่ายฯ ยังจุดเด่นตรงที่มีวัตถุดิบอย่างหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าเพียงพอตลอดทั้งปี รวมถึงแต่ละพื้นที่มีสายส่งเพียงพอที่จะขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ”นายนฤพล กล่าวทิ้งท้าย