“วิษณุ” ยอมรับ ปัญหา ส.ส.”เสียบบัตร”แทนกัน ถือเป็นความเสียหาย เห็นด้วย ส่งศาลรธน.วินิจฉัย เล็งศึกษา ม.143 มาแก้ปัญหา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย เจ้าของฉายา “เนติบริกร” กล่าวถึงกรณี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค ออกมากล่าวถึงการเสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่า เมื่อกระบวนการไม่ชอบ กฎหมายก็จะไม่ชอบตามด้วย ไม่ต้องตีความว่าเนื้อหาไม่ชอบ แต่ส่วนตัวอยากจะชี้แจงที่มีกระแสข่าวว่า การเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร โดยยืนยันว่าไม่เคยพูด
แต่ตนบอกว่าให้แยกเป็น 2 เรื่อง คือ การเสียบบัตร และผลกระทบต่อ พ.ร.บ งบฯ ซึ่งย้ำว่า การเสียบบัตรถือเป็นความเสียหายร้ายแรง มีความผิดและบทลงโทษด้วย แต่ที่ตนบอกว่า ไม่ถึงวิบัติ หรือ ความเสียหายนั้นคือเรื่องของ พ.ร.บ. งบฯ ดังนั้น การเสียบบัตรถือว่าเป็นกระบวนการไม่ถูกต้อง ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบหรือไม่ด้วยกฎหมาย และจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป
นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังกล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2556และ2557 ข้อเท็จจริงวันนั้น ก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงครั้งนี้ เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ส่วนตัวยืนยันว่าไม่เคยพูดว่า ข้อเท็จจริงในครั้งนี้เป็นคนละกรณีกัน และอาจจะออกมาได้ทางใดทางหนึ่ง หรือ 2-3 ทาง ตนไม่ขอชี้นำ
ทั้งนี้เมื่อกระบวนการไม่ชอบ จะทำให้มตินั้นไม่ชอบ แต่บังเอิญกรณีปี 2556 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนในปี 2557 คือ ร่างพระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน เป็นกระบวนการ ที่ หากมติไม่ชอบก็ไม่มีมติ แต่กรณีกฎหมายงบประมาณ แปลกกว่ากฎหมายอื่น ที่มีเงื่อนเวลา จึงมีบทบัญญัติ ม. 143 เป็นกรณีพิเศษ จึงไม่รู้ว่าจะนำ ม.143 มาใช้ได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ดีแล้ว ที่ ส.ส. ใช้มาตรานี้เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภา
ทั้งนี้ ทิศทางหลังจากนี้มีหลายแนวทาง คือเสียไปทั้งฉบับ,เสียไปเฉพาะมตินั้น และเสียเฉพาะคะแนนที่เสียบบัตรแทนกัน โดยย้ำว่า ไม่ขอชี้นำ แต่เรื่องนี้มีผลกระทบคือ ทำให้การพิจารณางบฯยืดเยื้อ การล่าช้านี้ก็มีความเสียหายแต่ไม่รุนแรง