คลอดแล้ว! ฉายา”สภาไทย” ยกปม “สภาล่ม” ที่สุดแห่งปี “ชวน” ได้ “มีดโกนขึ้นสนิม”

สื่อมวลชน ตั้งฉายา สภาปี2562 ยก “สภาล่ม” เป็นเหตุการณ์แห่งปี เปรียบเทียบ สภาฯ เป็น “ดงงูเห่า” พร้อมตั้ง “มีดโกนขึ้นสนิม” ให้ “ชวน หลีกภัย” ขณะ เว้น ตำแหน่ง ‘คนดีศรีสภา’ ชี้ ไม่มีผู้เหมาะสม 

28 ธ.ค.62  สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ตั้งฉายาสภาประจำปี 2562 หลังจากที่เว้นวรรคการตั้งฉายารัฐสภาไปเป็นเวลาประมาณ 5 ปี มาในปี 2562 สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้มีความเห็นร่วมกันที่จะตั้งฉายาสภาอีกครั้ง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ยังคงเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในรอบปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมืองแต่อย่างใด สำหรับฉายาสภาที่สื่อมวลชนได้ระดมสมองออกมานั้นมีบทสรุป ดังนี้

1.เหตุการณ์แห่งปี : “สภาล่ม”

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 วันติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. และ 28 พ.ย. ระหว่างการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ปฐมเหตุเริ่มมาจากการที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตให้กับฝ่ายค้าน ซึ่งจะต้องนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่ปรากฎว่าส.ส.รัฐบาลใช้เสียงข้างมากจนนำมาสู่การนับคะแนนใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนดังกล่าวจะต้องมีการนับองค์ประชุมก่อน ทว่ามีส.ส.ร่วมเป็นองค์ประชุม 92 คน แม้จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันถัดไป แต่ก็ยังมีส.ส.เพียง 240 คนไม่ครบองค์ประชุม นับเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียให้กับสภาฯในยุคของ ‘ชวน หลีกภัย’ ที่พยายามจะยกระดับมาตรฐานของสภาให้กลับมาเป็นความหวังของประชาชน

2.สภาผู้แทนราษฎร : “ดงงูเห่า”

การหายไปของสภาผู้แทนราษฎรเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้สภาฯถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนสมดั่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้ แต่จะด้วยผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพหรือเป็นนิสัยส่วนบุคคล ถึงได้เป็นช่องทางที่ทำให้ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “งูเห่า” ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” เพื่อตรวจสอบรัฐบาล แต่เมื่อผ่านไปสักระยะก็ยุติการเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไปจนถึงการลงคะแนนสวนทางกลับมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายครั้ง ทั้งการพิจารณาพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล ไปจนถึงการร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯก่อนจะลงมติล้มไม่ให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา 44 ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งตราบใดรัฐบาลยังมีเสียงปริ่มน้ำและต้องยืมมือฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้ สภาฯคงไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชนให้สมดังเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นเพียงดงงูเห่าที่คอยแว้งฉกกันเองเท่านั้น

3.วุฒิสภา : “สภาทหารเกณฑ์”

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีวุฒิสภาแบบพิเศษขึ้นมา กล่าวคือ แม้รัฐธรรมนูญจะหมวดว่าด้วยวุฒิสภาที่ให้มีการลงคะแนนเลือกกันเองจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ใน 5 ปีแรกกลับให้ส.ว.มาจากการเลือกของคสช.รวมกับผู้บัญชาเหล่าทัพโดยตำแหน่งเป็นจำนวน 250 คน ไม่เพียงเท่านี้ ส.ว.ชุดปัจจุบันจำนวนไม่น้อยมาจากบุคคลที่เคยเป็นสมาชิกสนช.ที่คสช.เคยแต่งตั้งอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ส.ว.เปรียบเสมือนเป็นทหารที่ถูกคสช.เกณฑ์เข้ามาที่ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกเท่านั้นแต่ยังอีกภารกิจ คือ การสานต่องานของคสช.ให้จบ โดยเริ่มให้เห็นแล้วจากการพร้อมใจเทคะแนนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และในอนาคตกำลังจะมีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจต่อไป

4.ประธานสภาผู้แทนราษฎร : “มีดโกนขึ้นสนิม”

‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในตำนานการเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นส.ส.ที่มีพรรษาทางการเมืองมากที่สุด และมีบารมีเต็มเปี่ยมจนได้กลับเข้ามาเป็นประธานสภาฯอีกครั้ง แม้จะมีความตั้งใจจะให้ประชาชกลับมาศรัทธาสภา แต่เอาเข้าจริงมีดโกนอาบน้ำผึ้งที่เคยบาดลึกแหลมคมกำลังขึ้นสนิมอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสภาได้ เช่น การวินิจฉัยเรื่องการนับคะแนนใหม่ในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา 44 จนนำมาสู่เหตุการณ์สภาล่ม ไปจนถึงการพยายามลอยตัวกับปัญหาต่างๆอย่างความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการสามัญหลายคณะ ทั้งๆที่เป็นผู้นำสูงสุดของสภา อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นมีดโกนขึ้นสนิมที่อาจฟันอะไรไม่ขาดเสียทีเดียว แต่หากใครได้โดนแล้วแน่นอนว่ายังต้องรู้สึกเจ็บและต้องรีบฉีดยากันบาดทะยัก เพราะวาจาของนายหัวเมืองตรังยังเจ็บจี๊ดไม่เคยเปลี่ยนแปลง

5.ประธานวุฒิสภา : “ค้อนยาง”

เป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานวุฒิสภา ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาก่อน ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เมื่อมาทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่เคยมีนั้นได้เลือนหายไป ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่ยำเกรงในบารมีของประธานวุฒิสภา ดังจะเห็นได้จากการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณานโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพราะปรากฎว่าทุกครั้งที่ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมในฐานะรองประธานรัฐสภา จะถูกส.ส.ลองของจนควบคุมการประชุมไม่ได้ โดยเฉพาะการปะทะคารมกันระหว่าง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ ‘พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนำมาซึ่งความวุ่นวายกลางที่ประชุม แม้ประธานวุฒิสภาจะพยายามใช้ค้อนทุบบนโต๊ะเพื่อหวังให้เกิดความสงบ แต่กลับได้ผลตรงข้าม จึงเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าค้อนไม้ที่ถือไว้ในมือนั้นเป็นเพียงแค่ค้อนยางเท่านั้น

6.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : “ขนมจีนไร้น้ำยา”

‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯในภาวะที่ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นลูกไล่รัฐบาลเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีเสียงในสภาที่สูสีกับฝ่ายรัฐบาล ถึงขนาดที่ฝ่ายค้านเคยโหวตชนะฝ่ายรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อครั้งพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของคสช.ตามมาตรา 44 ทว่าฝ่ายค้านยังไม่อาจแสดงศักยภาพในการตรวจสอบรัฐบาลให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเทียบกับผู้นำฝ่ายค้านฯในอดีตหลายคนก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังไม่ปรากฎบทบาทการเป็นผู้นำเพื่อให้การทำงานของสภาฯเกิดความสมานฉันท์และเป็นที่จดจำ จึงไม่ต่างอะไรกับขนมจีนที่ดูน่ารับประทาน แต่เมื่อไร้น้ำยารสเลิศแล้วก็ทำให้ขนมจีนจานนั้นไม่ได้อยู่ในสายตา

7.วาทะแห่งปี : “ตัดพี่ตัดน้อง”

วาทะนี้เป็นของพล.อ.ประยุทธ์ ที่พูดกลางที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการนำเสนอนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ก.ค. เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สุจริตของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ ตอบโต้ว่า “เรารู้จักกันมานาน ท่านเป็นรุ่นพี่ผม แต่งงานวันเดียวกัน แต่วันนี้ไม่ถือว่าเป็นรุ่นพี่อีกแล้ว เพราะท่านไม่เกียรติผม เคยพูดว่าจะชักปืนยิงผม ถ้ายิงจริง ท่านก็ติดคุกไปแล้ว ท่านพูดจาหยาบคาย เหรียญรามาผมก็ได้ แต่ไม่เคยอวดอ้างอำนาจ ให้ไปทบทวนตัวเอง”จากการตัดพี่ตัดน้องในวันนั้นทำให้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทวีความดุเดือดนับจากนั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

8.คู่กัดแห่งปี : ปารีณา VS พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองคนนี้เป็นมวยถูกคู่ แม้ว่าจะต่างวัยกันก็ตาม ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกพรรคส่งมาเป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มี ‘พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน เพื่อปกป้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ภายหลังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ พยายามเชิญนายกฯมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ แต่ปารีณาพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง ถึงขั้นมีการผัดกันยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกันเองภายในคณะกรรมาธิการจนงานอื่นๆของคณะกรรมาธิการเดินหน้าไม่ได้และกรรมาธิการหลายคนทยอยลาออก เพราะไม่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ดังนั้น การปะฉะดะของส.ส.สาวและอดีตนายตำรวจ จึงมีแต่เพียงการวิวาทะเท่านั้น หาแก่นสารไม่ได้แต่อย่างใด

9.ดาวเด่น : ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

จากคนที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนอกสภา แล้ววันหนึ่งก็ได้เดินเข้าสภาในนามพรรคอนาคตใหม่ เหตุผลหลักที่ทำให้ “อาจารย์ป๊อก” ได้รับตำแหน่งดังกล่าว คือ การเปิดประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้อยคำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นประเด็นที่สังคมแสวงหาความชัดเจนจากรัฐบาลมาร่วมเดือน จนนำมาสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงเท่านี้ตลอดการทำหน้าที่อภิปรายในสภาไม่ได้ใช้แต่เพียงวาทะศิลป์เท่านั้น เพราะทุกถ้อยคำล้วนมีเหตุผลทางวิชาการและกฎหมายรองรับ จึงทำให้คว้าตำแหน่งนี้ไปอย่างลอยลำด้วยความหวังว่าเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่จะสามารถรักษามาตรฐานที่วางไว้ไปให้ตลอด

10.ดาวดับ : ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อมีดาวเด่นก็ต้องมีดาวดับ ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น คือ เอ๋ ปารีณา เป็นที่ทราบกันดีว่าส.ส.เมืองโอ่งรายนี้ได้สร้างกระแสในแง่ลบผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะ แม้จะแสดงบทบาทในการตรวจสอบการถือครองที่ดินของมารดานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่กลับเป็นคนที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบเสียเองในเรื่องการถือครองที่ดินที่จ.ราชบุรี ทั้งๆที่มีตำแหน่งเป็นกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งทุกครั้งที่ถูกผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความโปร่งใส กลับพยายามบ่ายเบี่ยงหลายครั้ง ถึงขนาดที่กล่าวอ้างว่าได้ทำเอ็มโอยูกับนักข่าวที่จะยุติการสัมภาษณ์เรื่องนี้แล้ว โดยไม่มีหลักฐาน จึงไม่แปลกที่สื่อมวลชนได้เทคะแนนให้กับปารีณาด้วยความหวังจะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในอนาคต

11.คนดีศรีสภา : ไม่มีผู้เหมาะสม