ฮาลาลสร้างชาติ!’จุรินทร์’ดันเต็มที่ไทยเป็นศูนย์กลาง ชี้ประเทศได้ประโยชน์มหาศาล

‘จุรินทร์’ ดันไทยเป็น ‘ผู้นำฮาลาล’ทั้งด้านการผลิตและเทคโนโลยีด้านฮาลาล  ตามนโยบายครัวไทยครัวโลก พร้อมบุกตลาดอาหรับอแฟริกา อินเดีย ด้านดร.วินัย ระบุ ฮาลาลเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินนำผลประโยชน์เข้าประเทศ 400,000 ล้านกระจายทุกภาคส่วน 

ในระหว่างเปิดงาน Thailand Halal Assembly 2019 ครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด Algorithmic Touch of Halal นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงานฮาลาล ภายใต้ Algorithmic Touch of Halal  ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ ทันสมัย ที่มุ่งส่งเสริมกระบวนการพัฒนาฮาลาลของประเทศไทย ด้วยการบูรณาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับงานฮาลาลอย่างเป็นระบบ อันจะแสดงในเห็นถึงบทบาทเชิงประจักษ์ ของการเป็นผู้นำทางด้านกิจการฮาลาลของ ประเทศไทย

การจัดงาน Thailand Halal Assembly 2019 ครั้งที่ 6 เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-20 ธันวาคม ที่BITEC บางนา โดยมีผู้เกี่ยวข้องในแวดวงฮาลาล และผู้ประกอบการด้านฮาลาล 40ประเทศเข้าร่วม

157683329454

ในการปาฐกถาพิเศษ เรื่องศักยภาพฮาลาลไทย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงาน Thailand Halal Assembly 2019 มีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรม การค้า และการตลาดฮาลาลของประเทศ ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ตลอดจนภาคบริการ ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นหนึ่งในผู้นำด้านฮาลาลทั้งส่วนที่เป็นอาหาร และที่มิใช่อาหาร รวมถึงภาคบริการ โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลของไทย และผนวกการทำงานตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ เพื่อนำฮาลาลประเทศ ไทยสู่ความเป็น Thailand Diamond Halal

“ผมเชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมงานทุกท่านจะได้รับข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ มากมาย เกี่ยวกับฮาลาลประเทศไทย วิทยาศาสตร์ฮาลาล และเทคโนโลยีฮาลาล ผ่านนิทรรศการ Algorithmic Touch of Halal และการประชุมวิชาการนานาชาติ โดยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ รวมทั้งหน่วยงานรับรอง ด้านฮาลาลต่างๆ ที่จะมาให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการใหม่ๆ ของฮาลาล ตลอดจนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ” นายจุรินทร์ กล่าว

สำหรับด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น  Big data ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชนในการสร้างพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการฮาลาล และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับ เครื่องหมายฮาลาลไทยในระดับประเทศและระดับสากล จึงเชื่อว่าหลังจากนี้จะสามารถ พัฒนาการจัดงาน Thailand Halal Assembly อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนากิจการฮาลาลประเทศไทยให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติ

นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมากในการผลิตสินค้าฮาลาลทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารที่ไม่ใช่อาหาร อาทิ เครื่องสำอางที่อาจจะมีส่วนผสมของไขมันสัตว์ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักศาสนา

‘ภายใต้การผลิตที่ทันสมัย มีการบริหารจัดการที่ดีทำให้ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังต่างประเทศ ประมาณ 300,000 ล้านบาท และจะเข้าไปทำการตลาดการในประเทศอาหรับ ประเทศในแอฟริกา หรืออินเดียในส่วนที่เป็นมุสลิมด้วย’ นายจุรินทร์ กล่าว

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Thailand Halal Assembly เป็นงานฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย มีการประชุมวิชาการด้านฮาลาลและการแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติ ซึ่งภายใต้แนวคิด Algorithmic Touch of Halal นี้เป็นกระบวนการสร้างรูปแบบการพัฒนาฮาลาลอย่างเป็นระบบรอบคอบที่จะนำไปสู่การสร้าง Halal Blokchain และการจับคู่ธุรกิจและสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ

‘เราตระหนักถึงการขาดแคลนการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ ซึ่งการจัดงานเพื่อบ่งบอกให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่า การดำเนินธุรกิจ สร้างทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งนั้น ต้องเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่นำเสนอ Halal Blokchain และจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ทั้งที่เป็นประเทศมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม อย่างที่เคยเป็นต้นแบบศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ จนทั่วโลกให้การยอมรับมาแล้ว’ดร.วินัย กล่าว

ในงานมีการประชุมนานาชาติ HASIB ครั้งที่ 12 เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล และนิทรรศการ Socal enterprise หรือกิจกรรมเพื่อสังคม โดยร่วมมือกับ 33 มัสยิดในกทม. ในการดำเนินกิจกรรมในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของชุมชมในเกือบทุกด้าน

‘กิจกรรมเพื่อสังคมยังมีโครงการ SMEs HERO in town เพื่อพัฒนาศักยภาพ  คุณภาพ ให้ความรู้และเข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกในการผลิตสินค้า และบริการฮาลาล รวมถึงการส่งเสริมการตลาดแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรืออาจจะเรียกว่า ระดับไมโครเอสเอ็มอี เพื่อหวังให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จากมีผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่มีคถณภาพสูง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลงไปในที่สุด โดยมีการดำเนินโครงการ 5 ชุมชนในมัสยิด และจะดำเนินการให้ครบ 33 แห่งในปี 2563’ดร.วินัย กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวด้วยว่า งานฮาลาลถือเป็นการตอบแทนบุญคุณประเทศไทยของพี่น้องมุสลิม เพราะจากตัวเลขมูลค่าสินค้าและบริการฮาลาลในประเทศไทย 800,000 ล้านบาท เป็นการบริหารโภคภายในประเทศครึ่งหนึ่ง ประมาณ 200,000 ล้านส่งออกไปยังประเทศมุสลิม 57 ประเทศ และอีก 200,000 ล้านส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับประเทศไทย ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้ประกอบการที่มากกว่า 95%ไม่ใช่มุสลิม พนักงานในบริษัท ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกร เป็นคนที่ได้ประโยชน์จากฮาลาล