“สมลักษณ์” อดีต ปปช. แปลกใจ! กกต.ยุบ อนค.โดยไม่ไต่สวน

อดีต ปปช.และ ผู้พิพากษาศาลฏีกา แปลกใจ ทำไม กกต. ชงศาลรัฐธรรมนูญยุบอนาคตใหม่ โดยไม่ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา-ไม่สืบพยานจำเลย ขัดหลักพิจารณาคดี ย้อนถามมีกฎหมายพิเศษหรือ?

วันที่ 12 ธ.ค.62 น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณี ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี กู้ยืมเงินนายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ว่า

ตนรู้สึกแปลกใจว่าทำไม กกต. ไม่มีการไต่สวนและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้เขามีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าศาล หรือ แม้แต่ป.ป.ช. มีหลักในการพิจารณาคดี ทุกคดีจะต้องมีการไต่สวน สืบพยานก่อนเสมอ และรับฟังผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 227 วรรคแรก ซึ่งในสายกระบวนการยุติธรรมยึดหลักนี้

ป.ป.ช.ก็ยึดหลักนี้ ซึ่งป.วิอาญามาตรา 227 วรรคแรกนั้น ระบุว่า ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น นั่นแสดงให้เห็นว่าจะต้องรับฟังพยานและวินิจฉัย ชั่งน้ำหนัก

ดังนั้น ถึงได้บอกว่ารู้สึกแปลกใจทำไม กกต.ถึงได้สรุปสำนวนโดยฟังแต่ข้อกล่าวหา และพยานหลักฐานของ กกต.ที่มี โดยไม่ให้โอกาสจำเลยสืบพยาน ถึงได้เกิดคำถามขึ้นว่า กกต. มีกฎหมายอะไรพิเศษอย่างนั้นหรือ

ทั้งนี้ เรื่องการยุบพรรคการเมืองถึงแม้จะไม่ใช่โทษทางอาญา แต่การยุบพรรคการเมืองมีโทษที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ถูกตัดสิทธิ์ห้ามดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นโทษที่มีความรุนแรงของนักการเมือง ถูกตัดสิทธิ์ 10 หรือ 20 ปีก็เหมือนถูกประหารชีวิตทางการเมือง

ถ้าเป็นอย่างนี้จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างมาก ยกตัวอย่างในคดีอาญา เมื่อศาลสืบพยานมาแล้วพบว่าพยานโจทก์แน่นมาก ก็จะให้โอกาสจำเลยเต็มที่ในการสืบพยาน เพื่อให้เขาได้มีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่

แต่ทำไม กกต.ไม่ยึดหลักนี้ ในเมื่ออยู่สายกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน และองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ก็ไม่เคยทำที่จะลงโทษใครโดยดูแต่สำนวน ดูแต่ข้อกล่าวหาแล้วชี้ขาด อย่างนี้ไม่เคยทำ ยืนยันได้ แต่เราจะต้องไปสวนและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

นี่คือหลักทั่วไปของคนที่อยู่ในศาลและกระบวนการยุติธรรมและเป็นหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา ส่วน กกต.ได้อ้างฐานความผิดตามข้อกฎหมายใด มาตราใดนั้น ต้องขอดูข้อกฎหมายโดยละเอียดเสียก่อน