“อัศวิน” ไม่สนเสียงค้านเดินหน้าโครงการ พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ายชุมชนริมน้ำ

 

23 ม.ค.60 เวลา 16.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหาร กทม.และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเตรียมการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7 พร้อมพบปะชาวชุมชนมิตตคาม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและต้องดำเนินการรื้อย้าย โดยชาวชุมชนให้การต้อนรับด้วยดีรวมทั้งยังกล่าวขอบคุณ กทม.และรัฐบาล ที่รับฟังประชาชนและพร้อมจะให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนด ทั้งในด้านการศึกษาแผนแม่บท การจัดทำแบบรายละเอียด โดยขณะนี้ กทม.กำลังเตรียมความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ที่ผ่านมานอกจากมีการปรับปรุงแบบก่อสร้างแล้ว คณะทำงานยังได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคสังคม โดยมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนในหลายช่องทาง ทั้งการพบปะกับชุมชนโดยตรง และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ทำให้สามารถสร้างความเข้าใจที่รอบด้านแก่ประชาชนและสังคม จนได้รับความร่วมมือดีขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบเกิน 90 เปอร์เซ็นต์มีความเข้าใจในโครงการฯ สำหรับขั้นตอนต่อไปของการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบคือ การนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ  ทั้งนี้ กทม.จะยึดแนวทางให้ประชาชนที่ต้องรื้อย้ายมีความพึงพอใจ ได้รับความสะดวกสบาย และยินดีย้ายด้วยความเต็มใจ

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อทักท้วง ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ขอเรียนว่า ข้อทักท้วงต่างๆ ที่มีการเผยแพร่และนำเสนอต่อสื่อต่างๆ นั้น บางส่วนมีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม กทม.สามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น  ขณะเดียวกันในส่วนของข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ กทม.ก็ยังได้พิจารณานำมาใช้ในการปรับปรุงแบบก่อสร้างโครงการฯ อีกด้วย

“โดยส่วนตัวแล้ว  ผมขอยืนยันว่าไม่เหนื่อยไม่ท้อที่จะชี้แจงสร้างความเข้าใจกับผู้เห็นต่าง  และตั้งใจจริงที่จะรับฟังพร้อมกับให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่  การพัฒนากรุงเทพฯ เป็นงานใหญ่และยาก เนื่องจากเมืองหลวงของเรามีความซับซ้อน มีมิติที่หลากหลาย  โครงการพัฒนาใดๆ ย่อมต้องมีผลกระทบอยู่บ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่เมื่อมองถึงเป้าหมายสุดท้ายและคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของเมืองขนาดใหญ่แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของโลกแล้ว กทม.จำเป็นต้องกล้าที่จะริเริ่มและลงมือทำ โดยไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญต่อการสร้างเข้าใจแก่ประชาชนและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กล่าวเฉพาะโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ กทม.ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนั้น เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งความสะดวกในการเดินทางด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรในชุมชนริมแม่น้ำ ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางบก ทางน้ำและทางราง ตลอดจนเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเติมเต็มภาพความเป็นเมืองที่เจริญอย่างยั่งยืนให้แก่กรุงเทพฯ  ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ให้ความร่วมมือและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในช่วงผ่านมา  อย่างไรก็ตาม  ยังมีงานหนักที่รอให้เราร่วมแรงร่วมใจกันทำอีกมากอยู่ข้างหน้า”  พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็นโครงการขนาดใหญ่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมือง มีเป้าหมายหลักคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงแม่น้ำเจ้า
พระยา    ซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอีกด้วย  โดยรูปแบบโครงการฯ จะประกอบด้วยการก่อสร้างทางเดิน ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้

สำหรับชุมชนมิตตคาม มีทั้งหมด 309 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยสถาบันพัฒนา องค์กรชุมชน(พอช.) ได้ให้แนวทางช่วยเหลือ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ย้ายขึ้นอยู่แฟรต ขส.ทบ. 64 ครัวเรือน ย้ายไปแล้ว 42 ครัวเรือน 2.ย้ายไปโครงการเอื้ออาทรนครชัยศรี 23 ครัวเรือน 3.ซื้อที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ 58 ครัวเรือน 4.เช่าที่ดินกรมธนารักษ์และสร้างที่อยู่ใหม่ เป็นข้อเสนอใหม่ ยังไม่มีการตอบรับ 5. ขอที่อยู่เดิมภายในชุมชนเทวราชกุญชร และ6.ขอย้ายออกจากพื้นที่ กลับภูมิลำเนาเดิม รวม 45 ครัวเรือน หรือรอการตัดสินใจ 92 ครัวเรือน